THBA Q3 ปี59 เผยแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้าน

รูปที่ 3 THBA Q3 ปี59

THBA Q3 ปี59 เผยแนวโน้มของตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีแรก

สรุปภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านโดย ‘THBA Q3 ปี59′

              สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association : THBA) สรุปภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัดในช่วง 6 เดือนแรก (เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559) พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกมีสัญญาณฟื้นตัวดีเกินคาด แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง 3 เดือนหลังของครึ่งปีแรก (เม.ย.-มิ.ย.) กำลังซื้อกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมตลาดรับสร้างบ้าน ยังมีความไม่แน่นอนตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่การแข่งขันก็ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มผู้นำตลาดหรือ Top 5 ยังคงทำการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มรับสร้างบ้านรายกลางรายเล็ก หลายรายถึงกับหยุดกิจกรรมการตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อประคองตัว เหตุเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซึมยาว ในส่วนของต้นทุนค่าก่อสร้างบ้าน พบว่าต้นทุนปรับขึ้นเล็กน้อยจากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อราคาขายและผู้บริโภคที่สร้างบ้านในปีนี้ ด้วยเพราะผู้ประกอบการมีการแข่งขันราคากันรุนแรง เพื่อจะชิงส่วนแบ่งตลาดและกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีอยู่จำกัด

                อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าขีดความสามารถและกำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้ (ก.ค.-ธ.ค. 2558) ทั้งในแง่ของปริมาณและราคาเฉลี่ยต่อหน่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เงินกู้ยืมหรือสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลสมาชิกสมาคมฯ พบว่าร้อยละ 68 ผู้บริโภคใช้เงินสดหรือเงินออม และใช้เงินกู้หรือสินเชื่อธนาคารร้อยละ 32 หากเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งหลังปี 2558 (ก.ค.-ธ.ค.) ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 80 ใช้เงินสดหรือเงินออมเป็นหลัก โดยธนาคารที่ผู้บริโภคนิยมใช้บริการอันดับแรกๆ ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุผลสำคัญเพราะ 1.ความสะดวกหรือการให้บริการ 2.อัตราดอกเบี้ย

             “เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป สมาคมฯ ประเมินว่า อัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนมือหรือซื้อขายกัน และนำมาใช้ประโยชน์หรือปลูกสร้างบ้านกันมากขึ้น เพราะมิฉะนั้นจะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 1-3% ต่อปี ซึ่งนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลในเชิงบวกต่อธุรกิจสร้างบ้าน สำหรับอัตราการเสียภาษีบ้านหลังที่ 2 แม้ว่าจะเสียภาษีเพียง 0.03-0.05% หรือคิดเป็น 300-500 บาท/ล้านบาท/ปี  แต่ในแง่จิตวิทยาเชื่อว่าจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลในระยะสั้น และอาจฉุดกำลังซื้อกลุ่มที่ต้องการสร้างบ้านหลังที่ 2 ให้ชะลอตัวออกไป อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ประเมินว่าผลที่ได้รับจากนโยบายรัฐบาลดังกล่าว ไม่ใช่ตัวแปลสำคัญ ที่จะทำให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทรงหรือทรุด หากแต่ขึ้นอยู่กลับภาวะเศรษฐกิจประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากกว่า”

ทิศทางตลาดรับสร้างบ้าน THBA Q3 ปี59 และครึ่งปีหลัง

             แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้าน THBA Q3 ปี59 นี้ สมาคมฯ พบว่าบรรดาผู้ประกอบการมีมุมมองและความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านหนึ่งมองว่ากำลังซื้อผู้บริโภคจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยจับสัญญาณได้จากความต้องการสร้างบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงท้ายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กอปรกับในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี บรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มักจะมีการโหมจัดกิจกรรมการตลาดกันคึกคัก จึงเชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านมีโอกาสขยายตัว ส่วนอีกด้านหนึ่งประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีปัจจัยรบกวนและปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและประชาชน ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อชะลอตัว ได้แก่ ผลกระทบ Brexit ตามที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรืออียู ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและการเมือง ภัยธรรมชาติ ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำและเกษตรกรส่วนใหญ่รายได้ลดลง ปัญหานักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตหรือหนีไปลงทุนประเทศอื่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะเร็วๆ นี้จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากผ่านประชามติทุกอย่างก็เดินหน้าตามกระบวนการ แต่หากไม่ผ่านก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าการเมืองประเทศไทยจะไปทางใด ด้วยเพราะรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่มีการประกาศแนวทางที่ชัดเจน

        

นายกสมาคมชี้แนะ

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) เปิดเผยว่า สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศยังไม่มีความแน่นอน อันเป็นผลมาจากตลาดทุนและเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวน จากกรณีที่ประชาชนชาวอังกฤษลงประชามติ ให้ประเทศอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรืออียู รวมถึงปัจจัยภายในประเทศว่าด้วยการเมืองและการปกครอง โดยรัฐบาลยุค คสช. จะจัดให้มีมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็วๆ นี้ เพื่อประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป แต่จน ณ ขณะนี้ยังไม่อาจประเมินได้ว่าผลจะออกมาแบบใด ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจเองต่างเป็นกังวลและเฝ้าจับตาว่าหากมีอุปสรรคเกิดขึ้น รัฐบาลจะเดินตามโรดแมปที่ประกาศวางไว้อย่างไร

             สำหรับ แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส 3 นี้ ยอมรับว่าคาดการณ์ยากมาก จากเหตุและปัจจัยที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่เตรียมพร้อมและปรับตัวรับมือไว้ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าคงได้รับผลกระทบไม่มาก ส่วนรายที่ปรับตัวไม่ทันอาจยากลำบาก เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์กำลังซื้อผู้บริโภคที่ซึมยาว และการแข่งขันของรายผู้นำตลาดที่มีความได้เปรียบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะว่าด้วยชื่อเสียงของแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคมากกว่า การบริหารได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า ฯลฯ เป็นต้น

            ก่อนหน้านี้ สมาคมฯ คาดการณ์ตลาด “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศ มีมูลค่าราวๆ 8-9 หมื่นล้านบาท และประเมินว่าตลาด “รับสร้างบ้าน” โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีแชร์ส่วนแบ่งประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2559 ทั้งนี้จากสถานการณ์ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรับสร้างบ้านยังไม่คึกคักเท่าที่ควร ดังนั้น สมาคมฯ จึงปรับประมาณการแชร์ส่วนแบ่งกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านลดลง 3% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มชะลอตัวมากที่สุด
  
             ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายๆ ราย ไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสร้างการรับรู้แบรนด์ของตัวเองสู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในแง่ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ แต่หันไปอาศัยหน่วยงานของรัฐและเอกชนอื่นๆ เช่น ชมรม สมาคมการค้า ฯลฯ สื่อสารแทนเป็นหลัก ด้วยเพราะเชื่อว่าได้ประโยชน์และน่าเชื่อถือกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อภาวะตลาดชะลอตัวและมีการแข่งขันกันสูง ผลที่ได้ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะถูกเป็นตัวเลือกท้ายๆ ของผู้บริโภค เมื่อเปรียบเทียบกับรายที่แบรนด์แข็งแกร่ง ในส่วนของสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ได้แนะนำสมาชิกและผู้ประกอบการมาตลอดว่า ควรสร้างแบรนด์สร้างความเชื่อถือของตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมฯ จะเป็นผู้หาทางช่วยลดต้นทุนทางการตลาด สนับสนุนข้อมูล และสื่อสารเฉพาะภาพรวมของธุรกิจเท่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสและทิศทางตลาด รวมถึงสร้างเวทีกลางให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้มาพบหรือซื้อขายกัน ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำไปกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรต่อไป เพราะนั่นจะเป็นความยั่งยืนของผู้ประกอบการเอง โดยนโยบายของสมาคมฯ นั้น หาใช่ผู้มีหน้าที่เป็นผู้สร้างแบรนด์สร้างความน่าเชื่อถือแทนเสียเอง นายสิทธิพร กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพและข้อมูล :  m.prachachat.net

Leave a Reply