แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง จ่อพัฒนาที่ดิน

รูปที่ 1 แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง

ได้เวลา “ซีพี” พลิกที่ดิน 3 พันไร่ ลงขัน “จีน” ตีตั๋ว EEC- ‘แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง’

            ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง ที่ “รัฐบาลประยุทธ์” กำลังจะจุดพลุให้เกิด

            ดูเหมือน “ตระกูลเจียรวนนท์” ที่มีทุนหนาและที่ดินรอพัฒนาที่สถานีปลายทางไฮสปีดเทรน 3,068 ไร่ จะรับส้มหล่นไปเต็ม ๆ จึงไม่แปลกจะมีชื่อคนของ “ซีพี” นั่งเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด)ใน “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” และร่วมสังเกตการณ์ในวงประชุม EEC และพัฒนาเชิงพาณิชย์แนวรถไฟความเร็วสูง

           จากความพยายามอย่างยิ่งยวดของซีพี “รัฐบาล คสช.” จึงไม่รีรอจะเกาะติดแผนงานและแผนเงินการลงทุนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นกรณีพิเศษ

14732390231473239087l

ไฮสปีดซีพีแซงหน้าจีน-ญี่ปุ่น

           โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่ตอนนี้มีทีท่าว่า แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง จะวิ่งแซงหน้า”รถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่น”หรือแม้แต่ไฮสปีดเทรนสายเจ้าสัวเจริญที่ยังออกแนวสไตล์แทงกั๊ก

ไม่เหมือน “เจ้าสัวธนินท์” ที่ย้ำชัด “จะร่วมกับพันธมิตรลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง อยู่ระหว่างเตรียมการ กำไรจะมากหรือน้อยไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือทำโครงการให้สำเร็จตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการ เพราะโครงการใช้เงินลงทุนสูง หากรัฐทำจะขาดทุน จึงให้เอกชนเข้ามาช่วย”

          “รถไฟความเร็วสูงคนทำขาดทุนแน่นอน แต่ต้องมองประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ มีการขยายตัวของเมืองกระจายตัวออกไป ยังภูมิภาคแล้วนั่งรถไฟมาทำงาน ซึ่งใช้เวลาไม่นาน การจะลงทุนไม่ใช่แค่งานโยธา ต้องมีการพัฒนาเมือง เมืองใหม่และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคมารองรับด้วย”

แนวไฮสปีด กรุงเทพ-ระยอง เปิดหน้าดิน 3 พันไร่ระยองรอ

          สอดคล้องกับ “สมเกียรติ เรือนทองดี” รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซี.พี.แลนด์ ในเครือซีพี ระบุว่านโยบายรัฐจะออก พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจ EEC ทำให้นิคมอุตสาหกรรมซีพีที่ จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่ ใช้เงินลงทุน 7,500 ล้านบาทได้รับอานิสงส์ด้วย ทำให้โครงการเดินหน้าได้เร็วขึ้น หลังติดข้อกำหนดของผังเมืองรวมชุมชนที่ยื่นขอปรับปรุงแก้ไขสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงมาร่วม 2-3 ปี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปีนี้และเปิดบริการปลายปี 2560 ปัจจุบันมีนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้สนใจจะเข้ามาลงทุน

           สำหรับพื้นที่นิคมตั้งอยู่ ต.มาบข่า ต.นิคมพัฒนา อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 16 กม. ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กม. สนามบินอู่ตะเภา 30 กม. และใกล้สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 เฟส ระยะที่ 1 และ 2 ประมาณ 800 ไร่ ระยะที่ 3 ประมาณ 600 ไร่ อีก 900 ไร่ที่เหลือจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการและพื้นที่สีเขียว

            มี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน, ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์โลหะแปรรูป , แปรรูปเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ, อุตสาหกรรมเบา เช่น ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค

             ส่วน “เมืองใหม่” ทาง “สมเกียรติ” ย้ำว่า จะตามมาอย่างแน่นอน หลังจากการพัฒนาพื้นที่นิคมได้เริ่มต้นพัฒนาแล้ว ซึ่งจะมีคนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาบริเวณนี้จำนวนมาก จะต้องมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยมารองรับแหล่งงานที่จะเกิดขึ้น

 

ผนึกจีนลุยลงทุน 1.5 แสนล้าน

            ขณะที่พันธมิตรที่ “เจ้าสัวธนินท์” เนมชื่อจะผนึกกำลังลงทุนไฮสปีดเทรน เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ บจ.ซิติกคอนสตรัคชั่น จากฮ่องกง มีธุรกิจครบวงจรทั้งออกแบบ ที่ปรึกษา ก่อสร้างและสถาบันการเงินของตัวเอง กับ บจ.ไห่หน่านกรุ๊ป จากประเทศจีนที่เชี่ยวชาญสร้างท่าเรือ สนามบินและรถไฟ

           ในผลการศึกษาของ “ร.ฟ.ท.” สำหรับไฮสปีดเทรนสายของเจ้าสัวซีพีจะใช้เงินลงทุน 152,448 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 5,006 ล้านบาท งานโยธา 82,826 ล้านบาท ระบบอาณัติสัญญาณ 36,469 ล้านบาท ขบวนรถ 8,910 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 5,261 ล้านบาทและค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 4,330 ล้านบาท รวมระยะทาง 193.5 กม. มี 6 สถานี ได้แก่ ลาดกระบัง (ที่เดิม) ฉะเชิงเทรา (ที่ใหม่) ชลบุรี (ที่เดิม) ศรีราชา (ที่เดิม) พัทยา (ที่เดิม) และระยอง (ที่ใหม่) ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 10 นาที

รูปแบบการลงทุนให้เอกชนร่วมทุน PPP งานโยธา ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ขบวนรถ บริหารการเดินรถ และบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญาสัมปทาน โดยรัฐจะออกค่าเวนคืนที่ดิน

          สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี ตามแนวคิดของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จะให้เอกชนที่ลงทุนได้สิทธิการพัฒนาที่ดินรอบสถานีพ่วงไปด้วย จากการนำเสนอของ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ทางเอกชนจะหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่สถานี 3 บริเวณ มีในอาคารส่วนต่อจากอาคาร และอาคารนอกสถานี แต่อยู่ในเขตทาง

สัมปทาน 50 ปี

           สำหรับสายกรุงเทพฯ-ระยองจะนำร่องเป็นสายแรก มีเสียงดังจากภาคเอกชนที่สนใจ ขอขยายสัมปทานจากผลการศึกษาให้สูงสุด 30 ปี เป็น 50 ปี และต้องการพื้นที่ย่านสถานี 602,538 ตร.ม. ส่วนรายได้จะอยู่ที่ 165,467 ล้านบาท แยกเป็นรายได้ในสถานี 6,873 ล้านบาทและรายได้รอบสถานี 158,594 ล้านบาท

          “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า ได้นำเสนอแนวคิดลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง จะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการและได้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานี โดยเอกชนขอขยายสัมปทานเป็น 50 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้เพราะเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมดและใช้เงินลงทุนสูง ส่วนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอวิธีการจัดรูปหรือซื้อที่ดินมาพัฒนา

 

ภาพ : www.youtube.com    /    ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Leave a Reply