เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ เร่งประมูลไฮสปีด-ทางคู่

รูปที่ 4 เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ

บอร์ดล้างท่อ เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ ค้างฟ้า สัมปทาน60ปีที่ดิน3แปลงใหญ่-ไฮสปีด-ทางคู่จูงใจเอกชนลงทุน

          บอร์ดรถไฟสับเกียร์ประมูล เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ ล้างท่อทางคู่ ซื้อหัวรถจักร ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ไฮสปีดเทรน เดินรถขนส่งสินค้าสาย “ขอนแก่น-แหลมฉบัง” และพัฒนาคอมเพล็กซ์ยักษ์บนที่ดิน 3 ทำเลทอง ให้สัมปทานยาว 25-60 ปีจูงใจ หวังสร้างรายได้ ปลดแอกภาระหนี้แสนล้าน

         นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานด่วนของ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งให้เสร็จในปีนี้ คือเร่งประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทางระยะเร่งด่วน รวม 993 กม. เงินลงทุน 136,931 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562-2563

ล้างท่อประมูลทางคู่-ไฮสปีดเทรน ‘เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ’

           ขณะนี้เริ่มสร้างแล้วสายจิระ-ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และภายในเดือน มิ.ย.นี้มี 1 เส้นทางจะเปิดประมูลคือสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ที่เหลือจะเร่งขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ สายมาบกะเบา-จิระ, ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง 4 เส้นทางขอใช้มาตรา 44 เปิดประมูลคู่ขนานกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะยังไม่เซ็นสัญญาก่อสร้างจนกว่าอีไอเอจะผ่าน

          อีกทั้งเร่งประมูลรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างปี 2560 ซึ่งโครงการจัดอยู่ใน PPP Fast Track จะทำให้การประมูลแล้วเสร็จใน 9 เดือน โดยการลงทุนจะใช้รูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 แบบ PPP Net Cost หรือสัมปทาน 25 ปี ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติโครงการเสนอให้กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และ ครม.เห็นชอบแล้ว

 

เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ เร่ง PPP เดินรถสายอีสาน
         นอกจากนี้บอร์ดยังอนุมัติแผนลงทุนการขนส่งสินค้าด้วยหัวรถจักรไฟฟ้าเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-แหลมฉบังระยะทาง516 กม. จะให้เอกชนลงทุน PPP Net Cost หรือสัมปทาน 60 ปี ในงานขบวนรถและอู่จอดและซ่อมบำรุง ส่วนรัฐลงทุนงานทางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เงินลงทุนรวม 47,588 ล้านบาท

         แยกเป็นค่างานก่อสร้างทางคู่และระบบอาณัติสัญญาณเดินรถดีเซลช่วงมาบกะเบา-จิระ วงเงิน 29,809 ล้านบาท เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ก่อสร้างช่วงนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลเพื่อให้สามารถนำรถไฟฟ้ามาเดินรถได้ วงเงิน 17,799 ล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการเดือน พ.ย.นี้ เริ่มคัดเลือกเอกชนและเสนอ ครม.อนุมัติเดือน ธ.ค. 2559-พ.ค. 2560 จากนั้นเดือนมิ.ย. 2560-2563 เริ่มก่อสร้างทางคู่ช่วงมาบกะเบา-จิระที่เอกชนที่รับสัมปทานจะเป็นผู้ก่อสร้าง แต่ ร.ฟ.ท.ออกเงินงบประมาณ คาดว่าเปิดให้บริการปี 2565

         “ก่อนหน้านี้บีทีเอสเคยเสนอผลศึกษาเบื้องต้นมาแล้ว สนใจจะลงทุนเดินรถขนส่งสินค้าด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าว แต่เราไม่ได้ปิดกั้น เปิดให้เอกชนทุกรายเข้าร่วมลงทุน” นายสราวุธกล่าวและว่า

         ร.ฟ.ท.ได้ลงนามกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟภายในท่าเรือแทนรถบรรทุกที่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องรถติดซึ่งเมื่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 แล้วเสร็จ ทาง ร.ฟ.ท.เตรียมความพร้อมเรื่องหัวรถจักรไฟฟ้า แคร่ในการขนส่งสินค้าทั้งหมด ซึ่งการขนส่งทางรางจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความปลอดภัย และการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถตรวจสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ผ่านขบวนรถไฟได้แล้ว โดยได้รับการประสานความร่วมมือทั้งการท่าเรือ รถไฟ และศุลกากร

14641637971464163818l

เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ

ซื้อหัวรถจักรเพิ่มการขนส่งสินค้า
          “ปัญหาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ มีปัญหาคือขาดแคลนหัวรถจักรและตู้แคร่ เพราะจัดซื้อล่าช้า ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญในการขนส่งสินค้าทั้งระบบ ซึ่งผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนในการที่จะมีรถให้บริการ แต่มีเอกชนบางรายที่รอไม่ไหวได้ซื้อหัวรถจักรมาลากจูงเอง เช่น ทีพีไอ”

         สำหรับการจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนในแผนใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้จัดซื้อแล้วมีดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ 20 คัน วงเงิน 3,300 ล้านบาทซื้อจากจีน, จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คัน วงเงิน 4,981.05 ล้านบาทจากจีน ในเดือน พ.ค.นี้ จะได้รับรถชุดแรกจำนวน 13 คัน, รถบรรทุกสินค้า 308 คันกว่า 770 ล้านบาทจากจีน ใน 1 ปีจะส่งมอบรถลอตแรก 150 คัน

         ส่วนโครงการกำลังจะประมูลมีรถจักรดีเซลไฟฟ้าทดแทนรถ GE 50 คัน วงเงิน 6,562.5 ล้านบาท คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ส.ค.นี้ และจัดหารถดีเซลราง 186 คัน วงเงิน 13,505 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการจาก ครม. คาดว่าเซ็นสัญญาเดือน ก.ย.นี้ รวมถึงซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตรอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท กำลังพิจารณาจะซื้อใหม่แทนการซ่อม

 

เมกะโปรเจ็กต์ การรถไฟ ดึงเอกชนพัฒนา 3 ทำเลทอง
          ด้านการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์นายสราวุธกล่าวว่า ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดให้ ร.ฟ.ท.นำที่ดินที่สามารถจัดหาประโยชน์ได้ ซึ่งทั่วประเทศมีอยู่กว่า 3 หมื่นไร่ ให้นำมาพัฒนาให้เกิดรายได้มากที่สุด เพื่อลดภาระหนี้มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท

           ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า มี 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมืองจะนำมาพัฒนาได้ทันที แปลงแรกคือสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ มูลค่าโครงการ 68,183 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดอนุมัติเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว จะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 แปลง ได้แก่ โซน A 35 ไร่ ใกล้สถานีกลางบางซื่อ พัฒนาเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ เช่น โรงแรม สำนักงาน ศูนย์การค้าและที่จอดรถ มูลค่าการลงทุน 9,363 ล้านบาท

          โซน B 78 ไร่ ติดกับถนนกำแพงเพชรและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน พัฒนาเป็นแหล่งค้าปลีก-ค้าส่ง, ศูนย์กลางการ trading, ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม มูลค่าลงทุน 24,744 ล้านบาท และโซน C 105 ไร่ อยู่บนพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 พัฒนาเป็นเมืองใหม่ มีแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งงานและการพักผ่อนหย่อนใจ มูลค่าลงทุน 34,076 ล้านบาท โดยรูปแบบการพัฒนาโครงการจะให้เอกชน PPP ระยะเวลา 30 ปี เพื่อรองรับกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) จะเปิดใช้บริการในปี 2562 ส่วนสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ มูลค่า 10,413 ล้านบาท และบริเวณ กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ มูลค่า 18,370 ล้านบาท กำลังทบทวนโครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556

         ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งทำการย้ายโรงซ่อมจากมักกะสันไปยังแก่งคอย เพื่อนำที่ดินย่านมักกะสัน เนื้อที่ 497 ไร่มอบให้กับกรมธนารักษ์เพื่อชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาทให้กับกระทรวงการคลัง จะทำให้ภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท.ลดลงจากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนจะทำให้ ร.ฟ.ท.พ้นจากภาวะขาดทุนนั้นไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เพราะรายได้หลักยังเป็นการเดินรถที่ยังขาดทุนอยู่ สิ่งที่เป็นกำไรคือการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยกว่า 2-3 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น

 

ภาพ : crime.tnews.co.th  /  ที่มา : www.prachachat.net 

Leave a Reply