เวนคืนอัพเดต ‘เกษตร-นวมินทร์ รถติด’ ผุด “ทางด่วน-โมโนเรล”
ท่ามกลางสภาพการจราจรติดขัดทุกอณูพื้นที่เมืองกรุง ล่าสุด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จ่อปัดฝุ่นทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และโมโนเรลสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังโปรเจ็กต์ถูกคัดค้านจาก ม.เกษตรศาสตร์ จนทำให้ชะงักไปนานหลายปี
โดยให้เวลา “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เร่งศึกษาความเหมาะสมของ 2 โครงการรูปแบบไหนจะตอบโจทย์การเดินทางมากที่สุดระหว่าง “ทางด่วนกับโมโนเรล” หรือต้องสร้างทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป
จากก่อนหน้านี้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตบิ๊กคมนาคม เคยฟันธงจะฟื้นตอม่อ 281 ต้นบนถนนเกษตร-นวมินทร์ เป็นโมโนเรลสีน้ำตาล เพื่อเป็นฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายหลัก มี “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”เป็นเจ้าภาพ
มีระยะทางรวม 21.6 กม. เป็นระบบโมโนเรลขนาดกลาง กว้าง 2.40-3 เมตร ยาว 12-15 เมตรต่อตู้ วงเงิน 44,064 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 24,379 ล้านบาท งานระบบ 13,073 ล้านบาท เวนคืน 5,780 ล้านบาท และที่ปรึกษาคุมงาน 832 ล้านบาท
ตลอดเส้นทางมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 7 สาย แนวเริ่มจากถ.รัตนาธิเบศร์ หน้าศาลากลางนนทบุรี เชื่อมสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) แล้ววิ่งไปตามถ.งามวงศ์วานผ่านเรือนจำคลองเปรม วิภาวดีรังสิต เชื่อมสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สถานีบางเขน
ผ่านแยกเกษตรเชื่อมสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ตรงไป ถ.เกษตร-นวมินทร์ ผ่านจุดตัดทางด่วนจะเชื่อมสายสีเทา (วัชรพล-พระราม 9) เลี้ยวเข้า ถ.นวมินทร์ สิ้นสุดแยกลำสาลี จะเชื่อมสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มี 22 สถานี ได้แก่
1.ศูนย์ราชการนนทบุรี ตรงข้ามไทยคม
2.งามวงศ์วาน ใกล้ ซ.งามวงศ์วาน 3
3.บัวขวัญ ตรงชุมชนวัดบัวขวัญ
4.แยกพงษ์เพชร
5.ชินเขต หน้า ซ.งามวงศ์วาน 43
6.บางเขน หน้าเรือนจำคลองเปรม
7.คุณหญิงอิศรา หน้า ม.เกษตรฯ
8.เกษตร ทางแยก
9.กรมยุทธโยธาทหารบก
10.ลาดปลาเค้า 39
11.ประเสริฐมนูกิจ 25
12.เสนานิเวศน์
13.สตรีวิทยา 2
14.ประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณจุดตัดทางด่วน
15.คลองลำเจียก จุดตัดถ.ลำเจียก
16.รามอินทรา-นวมินทร์ จุดตัดนวมินทร์
17.นวลจันทร์ แยกซอยนวลจันทร์ 11
18.โพธิ์แก้ว บนถ.นวมินทร์ตัดถ.โพธิ์แก้ว
19.นวมินทร์ 73
20.แฮปปี้แลนด์ จุดตัดนวมินทร์กับแฮปปี้แลนด์
21.การเคหะแห่งชาติ
22.ลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี จะใช้เวลาสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จปี 2565
ขณะที่ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ก็พยายามผลักดันจะผันตอม่อเป็นฐานสร้างทางด่วนสายใหม่ แม้ว่าจะถูกคัดค้านช่วง N1 (แยกเกษตร-บางใหญ่) ล่าสุดดันช่วง N2 จากเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมวงแหวนตะวันออก ให้ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” พิจารณา
“ณรงค์ เขียดเดช” ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเสนอแผนลงทุนทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จะใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) ที่กระทรวงการคลังเตรียมระดมทุนให้ กทพ.วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างทางด่วน 2 โครงการ แยกเป็นสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 3.2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือ 8 พันล้านบาทจะนำมาสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ รวมกับเงินกู้อีก 6 พันล้านบาท ทั้ง 2 โครงการจะบรรจุในแผนลงทุนเร่งด่วน ปี 2560 ของคมนาคม
“เป็นการใช้ตอม่อที่สร้างมา 22 ปี ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาทให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้โครงการพร้อมหมดแล้ว”
นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวเส้นทางตอน N2 จะเริ่มต้นจากแยกลาดปลาเค้ามาเชื่อมกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา จากนั้นจะสร้างซ้อนทับบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ถึงแยกนวมินทร์
จากนั้นวิ่งตรงไปบนเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง(ทล.)จนบรรจบกับวงแหวนตะวันออก(E-W Corridor) รวมระยะทาง 12.2 กม. ออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนการเวนคืนที่ดิน จะให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากจะสร้างบนตอม่อที่มีอยู่เดิมและบนเกาะกลางของถนนกรมทางหลวง ซึ่ง กทพ.จะขอใช้เขตทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
รอลุ้นปีหน้าหลัง “สนข.” ศึกษาเสร็จโครงการไหน จะลงตัวที่สุด แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงจะเลือกทั้ง 2 ระบบไปด้วยกัน และเริ่มสร้างตามความพร้อมของโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางในอนาคต