‘หาดใหญ่-ภูเก็ต’ เร่งยิก ผุดโมโนเรล-รถรางไฟฟ้า

หาดใหญ่-ภูเก็ต

‘หาดใหญ่-ภูเก็ต’ เร่งยิก ผุดโมโนเรล-รถรางไฟฟ้า

‘หาดใหญ่-ภูเก็ต’ เร่งยิก ผุดโมโนเรล-รถรางไฟฟ้า

          จาก 6 จังหวัดที่ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กำลังทบทวนโมเดลแก้ปัญหารถติด ขณะนี้มี 2 พื้นที่ ‘หาดใหญ่-ภูเก็ต’ ที่มีความชัดเจน จะใช้ระบบการขนส่งรูปแบบไหนมาเป็นเรือธงแก้ปัญหา

          โดย “พื้นที่หาดใหญ่” จ.สงขลา จะใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล เป็นโครงสร้างยกระดับ มีจุดเริ่มต้นที่สี่แยกคลองหวะ สิ้นสุดปลายทางที่สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.5 กม. มี 12 สถานี

         ได้แก่ สถานีคลองหวะ ขนส่งหาดใหญ่ (เซ็นทรัล) คลองเรียน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คอหงส์ ราษฎร์ยินดี (บิ๊กซี) หาดใหญ่วิทยาลัย น้ำพุ ตลาดกิมหยง ชุมทางรถไฟหาดใหญ่ หาดใหญ่ใน และสถานีรถตู้


ระบบตัวรถออกแบบเป็นรูปแบบคร่อมราง ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง ขับเคลื่อนด้วยล้อยาง วิ่งอยู่บนคานรับน้ำหนัก มีล้อบังคับ

          การทรงตัว โดยรถ 1 ขบวน มี 4 ตู้โดยสาร จุผู้โดยสารได้ 464 คน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ใช้เงินลงทุน 16,100 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 1,327.5 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 7,682.64 ล้านบาท และค่าระบบรถไฟฟ้า 7,090 ล้านบาท

ความคืบหน้าล่าสุดรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุมัติปลายปีนี้ จากนั้นจะเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุนแบบ PPP

        โดยรัฐลงทุนงานโยธาและการบำรุงรักษา งานเครื่องกลและระบบไฟฟ้า ส่วนเอกชนลงทุนจัดหาขบวนรถ ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ ตั้งเป้าเริ่มสร้างปี 2561 เปิดใช้ปี 2563-2564 เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ปรับขึ้นทุก ๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ

          ขณะที่พื้นที่ “ภูเก็ต” เคาะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา สร้างจากสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง กำลังพิจารณาเงินลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 24,000 ล้านบาท เป็น 27,000-28,000 ล้านบาท เนื่องจากจะมีปรับแบบสร้างอุโมงค์ทางลอด 3 แห่ง 

แนวเส้นจะเริ่มต้นที่สถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา มุ่งสู่บ้านท่าฉัตรไชย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จะใช้สะพานเทพกระษัตรีไปตามถ.เทพกระษัตรี จะก่อสร้างบนเกาะกลางถนนถึงแยกถนนสาย 3033 เลี้ยวขวาเข้าสนามบินภูเก็ตตามถนน 4031 ขนานไปกับแนวทางวิ่งรันเวย์ แล้วไปตามถนน 4026 บรรจบกับถนน 402 เลี้ยวขวาตรงไปจนถึงแยกถนนดอนจอมเฒ่า


จากนั้นไปตามถนน 402 จนบรรจบกับสามแยกบางคู และตรงไปตามแนว ถ.เทพกระษัตรีเข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต จนถึงแยกถ.รัษฎาตรงไปเลี้ยวขวาที่สี่แยกสะพานหินผ่านหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษา ผ่านสะพานคลองเกาะผีเข้าสู่ ถ.ศักดิเดชไปบรรจบกับถ.เจ้าฟ้าตะวันออก เลี้ยวซ้ายสี่แยกดาวรุ่งตรงไปสิ้นสุดที่ห้าแยกฉลอง รวม 60 กม.

         ตลอดเส้นทางจะก่อสร้างบนระดับดิน ยกเว้นหน้าสนามบินจะเป็นทางยกระดับ มี 23 สถานี ได้แก่ ท่านุ่น, ท่าฉัตรไชย, ประตูเมือง, ท่าอากาศยาน, เมืองใหม่, ถลาง, อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร, เกาะแก้ว, สถานีขนส่ง, มหาวิทยาลัยราชภัฏ, ทุ่งคา, เมืองเก่า, หอนาฬิกา, บางเหนียว, ห้องสมุดประชาชน, สะพานหิน, ศักดิเดช, ดาวรุ่ง, วิชิต, เจ้าฟ้าตะวันออก, ป่าหล่าย, บ้านโคกโตนดและห้าแยกฉลอง

         ระบบรถนำมาวิ่งมี 2 ระบบให้เลือก คือ ไลต์เรลและแทรม รองรับความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม. เก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 18 บาท เพิ่มอีก กม.ละ 2.5 บาท เริ่มสร้างปี 2561

หากสร้างเสร็จไม่ใช่แค่แก้รถติดอย่างเดียว ยังเป็นรถไฟเชื่อมการท่องเที่ยว 3 จังหวัดภาคใต้ “สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต”

 

ภาพ : pantip   /  ข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Leave a Reply