สนามบินอีสาน เตรียมรุ่ง! พลิกโฉมขานรับ CLMV

สนามบินอีสาน

สนามบินอีสาน “ขอนแก่น” ปรับปรุง ในรอบ 20 ปี

                จากการท่องเที่ยวและการเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost ในภาคอีสาน โตทะลุจุดเดือด โดยมีส่วนแบ่งผู้โดยสารอยู่กว่า 40% ทำให้ “ทย.-กรมท่าอากาศยาน” ทุ่มเงิน 11,218.7 ล้านบาท เร่งปรับปรุงขยาย 9  สนามบินอีสาน เพื่อรองรับความต้องการ ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร บุรีรัมย์ เลย นครพนม นครราชสีมา และร้อยเอ็ด

                “ดรุณ แสงฉาย” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า Timeline จะได้ผู้รับเหมาปีนี้ เริ่มก่อสร้างต้นปี 2561-2563 พร้อมอวดโฉมใหม่ในปี 2564 ภายใต้ชื่อ “ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น” จะรองรับทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศในกลุ่ม CLMV” …จุดเด่นอยู่ที่ “ท่าอากาศยานขอนแก่น” จะถูกพลิกโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยงบฯ 2,500 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารเดิมให้ไฉไล สร้างอาคารหลังใหม่และที่จอดรถเพิ่ม 3 อาคาร พื้นที่รวมกว่า 40,000 ตร.ม. ในนี้จะเนรมิตบางส่วนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำหรับร้านค้า O-TOP SME และ Startup

                 ด้านสนามบินขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวเมือง 8 กม. มีพื้นที่ 1,113 ไร่ ความยาวทางวิ่ง 3,050 เมตร รองรับเครื่องบินใหญ่สุด B747 และ B737 อาคารผู้โดยสารรองรับได้ 1,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.4 ล้านคนต่อปี มีลานจอดรถ 160 คัน ปัจจุบันมี 4 สายการบินให้บริการ ได้แก่ Thai Smile , Thai Air Asia,  Nok Air, Thai Lion Air มี 38 เที่ยวบินต่อวัน ปีนี้คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสาร 1.8 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ 1.49 ล้านคน

              กรมได้งบฯปี 2561-2563 จำนวน 2,500 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นให้เป็นสนามบินนานาชาติ จะสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่ 40,000 ตร.ม. พร้อมอาคารจอดรถ 550 คัน วงเงิน 2,250 ล้านบาท และขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่ม 6 หลุมจอด วงเงิน 300 ล้านบาท จะเปิดประมูลและเซ็นสัญญาปีนี้ เริ่มสร้างต้นปี 2561 เริ่ม Operate ปี 2564 รับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี

 

               ว่าที่ ร.ต.อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่น กล่าวว่า เร่งขยายสนามบินขอนแก่น เพราะเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา บริการภาครัฐและเอกชนของภาคอีสาน ทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเติบโตสูง มีลงทุนสร้างโรงแรม ศูนย์ประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ทำให้คนหันมาเดินทางด้วยสายการบิน Low Cost เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 7-10% และยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง จากประตูเศรษฐกิจชายแดนกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและ CLMV

               รูปแบบใหม่จะเป็นอาคารทันสมัย 3 อาคาร มีอาคารจอดรถ 7 ชั้น สำนักงานและพิธีการบินอยู่ตรงกลางสูง 3 ชั้น และอาคารผู้โดยสารต่างประเทศ ที่ตั้งสำนักงานสายการบินและสำนักงานของกรมท่าอากาศยาน และขยายหลุมจอดเครื่องบินเป็น 11 หลุมจอด รองรับ Boeing 737-800 และ Airbus A320-200 จะเริ่มสร้างอาคารหลังใหม่ก่อน จากนั้นจะปิดปรับปรุงอาคารเดิม

                ปีนี้ยังได้งบฯ 55 ล้านบาท สร้างสะพานเทียบเครื่องบินตัวที่ 3 จะเสร็จปี”61 และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกได้เปิดเส้นทางเดินรถขอนแก่น City Bus จากสนามบินเข้าไปยังในเมืองด้วยค่าบริการ 15 บาท

              ส่วนการเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ ล่าสุดมี Thai Air Asia ขอเปิดเส้นทางบินขอนแก่น-คุนหมิง และมีสายการบิน Lao Central Airlines ขอเปิดเส้นทางบินขอนแก่นไปหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ในอนาคตหลังเปิดบริการอาคารหลังใหม่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีก

 

ขณะที่… สนามบินอีสาน ในจังหวัดอื่นๆ..

               “ท่าอากาศยานอุดรธานี” ที่มีผู้โดยสาร 2.6 ล้านคนต่อปี เตรียมงบฯพัฒนา 2,184 ล้านบาทพัฒนา ในปี 2560 ได้เงิน 184 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย และ 600 ล้านบาทปรับปรุงสนามบิน เช่น ระบบ EDS เปลี่ยนระบบปรับอากาศ และกำลังพัฒนาลานจอดเครื่องบินเป็น 10 หลุมจอด จะเสร็จปลายปี 2561 จากนั้นปี 2565-2567 ขอ 2,000 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ปรับปรุงอาคารเดิมให้รองรับได้ 7.4 ล้านคนต่อปี

              “ท่าอากาศยานเลย” จัดงบฯ 881 ล้านบาทพัฒนาสนามบินที่สร้างมาแล้ว 21 ปี โดยปี 2561 เจียด 20 ล้านบาท ขยายอาคารผู้โดยสารขาออกและปรับปรุงห้องน้ำ ปี 2562 ขอ 161 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย และ 600 ล้านบาท สร้างอาคารหลังใหม่ในปี 2565-2567 รับผู้โดยสารจาก 550,000 คนต่อปี เป็น 1.7 ล้านคนต่อปี และขยายลานจอดเครื่องบิน 120 ล้านบาทในปี 2566-2567

               “ท่าอากาศยานนครพนม” ได้งบฯปี 2561 วงเงิน 142 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย ด้าน “ท่าอากาศยานสกลนคร” เตรียมงบฯ 1,045 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย 145 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่พร้อมอาคารจอดรถปี 2568-2569 วงเงิน 900 ล้านบาท รับผู้โดยสารจาก 800,000 คนต่อปีเป็น 3.4 ล้านคนต่อปี

               “ท่าอากาศยานอุบลราชธานี” ใช้งบฯ 2,704 ล้านบาทเริ่มปี 2561 ใช้งบฯ 177 ล้านบาทต่อเติมอาคารผู้โดยสารและแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย 217 ล้านบาท ในปี 2565-2567 ก่อสร้างปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร และอาคารจอดรถ 2,010 ล้านบาท ให้รับผู้โดยสารจาก 2.4 ล้านคนต่อปี เป็น 5 ล้านคนต่อปี และปี 2565-2567 ขยายลานจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 300 ล้านบาท

               “ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด” นอกจากเสริมผิว Runway ให้เสร็จเดือน พ.ย.นี้ ด้วยงบฯ 50 ล้านบาท กำลังรองบฯปี 2562 กว่า 86 ล้านบาท ต่อเติมอาคารเดิมหลังผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 307% รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัยอีก 167 ล้านบาท และปี 2566-2567 ขอ 600 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับได้ 1 ล้านคนต่อปี จากเดิม 750,000 คนต่อปี

               “ท่ากาศยานบุรีรัมย์” กำลังขออนุมัติให้เป็นสนามบินศุลกากรรองรับสายการบินระหว่างประเทศ พร้อมกับจัดงบฯ 326.89 ล้านบาทขยายลานจอดเครื่องบิน ต่อเติมอาคารผู้โดยสารเดิมและแก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเกิน 200,000 คน

ปิดท้ายที่ “ท่าอากาศยานนครราชสีมา” รองบฯปี 2563 วงเงิน 178 ล้านบาท แก้ไขข้อบกพร่องด้านรักษาความปลอดภัย

 

ภาพ : OKnation      /    ที่มา : www.prachachat.net

Leave a Reply