สถานีใหม่ใจกลางกรุง เตรียมผุด งบ 450ล้าน

 สถานีใหม่ใจกลางกรุง

สถานีใหม่ใจกลางกรุง

  ในช่วงเช้าวันธรรมดา หลายๆคนอาจจะประสบกับความยากลำบากในการเดินทาง ยิ่งหากใครใช้รถไฟฟ้าต้องเจอกับการต่อแถวยาวเหยียด รอรถคันแล้วคันเล่า แถมยังต้องเบียดเสียดอัดแน่นกันในชั่วโมงรีบเร่ง โดยเฉพาะสถานีที่อยู่ในช่วงย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ใช้บริการอย่างล้นหลาม และล่าสุดทางบีทีเอสได้มีนโยบายสร้างสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น แต่จะเป็นสถานีใดนั้น ไปติดตามกันได้เลยครับ

 

               บีทีเอสดึงเงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทางราง “บีทีเอสโกรท” 450 ล้านสร้างสถานีศึกษาวิทยา ระหว่างสถานีสุรศักดิ์กับสถานีช่องนนทรี เพิ่มเติม หลังปริมาณผู้โดยสารเพิ่มต่อเนื่อง ด้าน “ซีอีโอ บีทีเอส” ยันพร้อมดำเนินการไม่กระทบการให้บริการเดินรถ เร่งเสนอ กทม. ไฟเขียว

                นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้ทำหนังสือถึงบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม บังหลวง จำกัด (บลจ.บัวหลวงฯ) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) เพื่อเสนอสร้าง สถานีใหม่ใจกลางกรุง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้า เพิ่มเติม คือ สถานีศึกษาวิทยา (S4) ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีช่องนนทรี(S3) และสถานีสุรศักดิ์(S5) เพราะเห็นว่าเส้นทางดังกล่าวมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งๆ ที่เดิมได้กำหนดจุดสถานีรองรับไว้แล้ว

             โดยจุดก่อสร้าง สถานีใหม่ใจกลางกรุง ดังกล่าวจะอยู่ช่วงหน้าโรงพยาบาลบางรัก ซึ่งจัดไว้เป็นสถานีรองรับในอนาคต เป็นจุดที่อยู่ในเส้นทางตามที่ได้รับสัมปทาน เนื่องจากกองทุนเล็งเห็นว่ามีศักยภาพที่น่าจะสร้างสถานีได้แล้ว จึงเห็นควรที่จะนำเสนอกทม.อนุมัติให้ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันจากสถานีสุรศักดิ์มายังสถานีช่องนนทรีมีระยะห่างจึงไม่สะดวกต่อ ประชาชนผู้ใช้บริการในโซนนั้น

            “สำหรับการก่อสร้างจะไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการ เนื่องจากฐานรากทำเผื่อไว้ตั้งแต่ต้นแล้วปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบราคา เมื่อ กทม. อนุมัติในหลักการแล้วยังจะต้องเสนอแบบและแจ้งให้ทางสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทราบถึงการรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อจากนั้นคงจะให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการประมูลก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561”

              นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่าจุดก่อสร้างสถานีดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะออกเงินครึ่งหนึ่ง โดยการก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือนแล้วเสร็จ โดย บลจ.บัวหลวงฯพิจารณาแล้วเห็นว่าการสร้างสถานี S4 (สถานีศึกษาวิทยา) นี้จะเป็นประโยชน์ต่อกองทุนและผู้โดยสาร โดยจะทำให้รายได้ค่าโดยสารของกองทุนเพิ่มขึ้น

               “ที่ปรึกษาได้ทำการประมาณการจำนวนเที่ยวการเดินทางและรายได้ค่าโดยสาร คาดว่าการสร้างสถานี S4 จะทำให้จำนวนเที่ยวการเดินทางเพิ่มขึ้นประมาณ 9.5พัน-1.2หมื่นบาท เที่ยวต่อวันในวันธรรมดา ซึ่งจะทำให้รายได้ค่าโดยสารในปี 2560-2561 (ปีที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ) เพิ่มขึ้นประมาณ 94 ล้านบาทต่อปี เป็นรายได้ค่าโดยสารหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะ เพิ่มขึ้นประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างสถานี S4 ได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์แล้วอีกทั้ง กทม. ยังเห็นชอบในหลักการแล้วเช่นกัน”

              ด้านนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)กล่าวว่ากรณีดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดต่อการให้สัมปทาน กับบีทีเอส เพราะมีแผนการรองรับไว้ตั้งแต่เปิดให้บริการ ปัจจุบันสภาพการใช้บริการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใช้บริการ ณ จุดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น กทม. จึงพร้อมอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,099 วันที่ 25 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Leave a Reply