พฤกษาแวลู เปิดแผนปีนี้ เน้นคุณภาพ ไม่แข่งราคา

พฤกษาแวลู

พฤกษาแวลู ขยับราคาเจาะ2-5ล้าน และเพิ่มช่องทางดิจิทัล

พฤกษาแวลู ปั๊มยอดบ้าน-คอนโด เน้นขายพร้อมอยู่  

               พฤกษาฯบุกหนักตลาดกลาง-ล่าง ปูพรมแผนกลยุทธ์ไล่ล่าเป้ายอดขาย 48,000 ล้าน ชูแนวคิด “พฤกษา 4.0″ เพิ่มประสิทธิภาพทีมงานตั้งแต่หน้าไซต์ก่อสร้างไปจนถึงบริการหลังการขายมัดใจลูกค้า โฟกัสรายโปรดักต์ ตลาดคอนโดฯ ส่งแบรนด์ธง “The Tree-Urbano-Privacy” เจาะลูกค้า 3-5 ล้าน หนี Reject Rate แนวราบเน้นทำบ้านพร้อมอยู่-Pre-Approve กวาดยอดขายยอดโอนบ้านเดี่ยว 3-5 ล้าน ทาวน์เฮาส์ 2-2.5 ล้านอยู่หมัด

               นายปิยะ ประยงค์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม พฤกษาแวลู บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เผยว่า แผนธุรกิจกลุ่ม พฤกษาแวลู ตั้งเป้ามียอดขาย 48,700 ล้านบาท กลยุทธ์การแข่งขันปีนี้ Concept เอาชนะคู่แข่งขันด้วยโปรดักต์ ไม่เน้นแข่งขันด้านราคา

 

คว้าแชร์ตลาด 6-30%

             ทั้งนี้ ข้อมูลสำรวจของ พฤกษา โฮลดิ้ง พบว่า ปี 2559 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีมูลค่ารวม 362,456 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดทาวน์เฮาส์มูลค่ารวม 66,716 ล้านบาท, บ้านเดี่ยว 101,158 ล้านบาท, คอนโดมิเนียม 183,500 ล้านบาท และอสังหาฯประเภทอื่น ๆ 10,722 ล้านบาท

             แนวโน้มมูลค่าตลาดในปี 2560 แยกรายประเภท ดังนี้ สินค้าทาวน์เฮาส์คาดมีมูลค่าตลาดรวม 73,100 ล้านบาท ทิศทางเติบโตได้ 10%, บ้านเดี่ยว 106,300 ล้านบาท เติบโต 5%, คอนโดฯ 188,500 ล้านบาท เติบโต 3% และอสังหาฯประเภทอื่น ๆ คาดมีมูลค่าตลาด 11,100 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 4% 

              ทั้งหมดนี้ส่งผลให้แนวโน้มตลาดรวมคาดว่ามูลค่าเติบโตได้อีก 5% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 379,000 ล้านบาท โดยพฤกษาฯมีส่วนแบ่งตลาดรายสินค้า แบ่งเป็นตลาดทาวน์เฮาส์มูลค่ารวม 34,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของตลาดรวม, บ้านเดี่ยวมูลค่า 13,000 ล้านบาท สัดส่วน 9% และคอนโดฯ 15,000 ล้านบาท สัดส่วน 6% ของตลาดรวม

 

สู้ด้วย “พฤกษา 4.0″

              นายปิยะกล่าวว่า นโยบายภาพใหญ่ขับเคลื่อนบริษัทภายใต้แนวคิดพฤกษา 4.0 นำไปสู่กลยุทธ์หลัก 3 ด้าน เริ่มจากด้าน Product และ Brand , ด้านกระบวนการ (Process) และด้านองค์กร (Organization) ซึ่งในด้าน Product และ Brand เริ่มจาก

1.ตัวสินค้า พัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (HVA-High Value Added Product) เพราะต้องการแข่งขันด้วยสินค้ามากกว่าแข่งกันด้วยราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่แตกต่างจากในอดีต

2.Go-Digital ด้านการตลาด

3.เพิ่มดีกรี Service ผ่าน Application

4. E-Construction ซึ่งบริษัทพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง

               E-Construction เราพัฒนาเอง เช่น โปรแกรม BIM คำนวณเบ็ดเสร็จตั้งแต่การออกแบบจนถึงวางแผน มี Tablet ใช้หน้าไซต์งาน อนาคตอาจมีการใช้โดรนควบคุมการทำงาน ดู Process การทำงาน เพราะไซต์ก่อสร้างมีเป็นร้อยโครงการ ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย ในอนาคต Foreman  วิศวกร สามารถนั่งควบคุมงานโดยดูจากหน้าจอ
              ในเรื่องของ Brand เมื่อ Product พัฒนาเป็นจุดขายด้วยตัวเองจะมาควบคู่กับ Brand เพียงแต่ Brand จะลงลึกในการดูแลลูกบ้านที่พักอาศัยในโครงการในเครือพฤกษาเพิ่มมากขึ้น ปีนี้มั่นใจว่านโยบายเป็นที่ 1 ในใจลูกค้าประสบความสำเร็จ 100% ในการดูแลลูกค้าในโครงการทาวน์เฮาส์ กำลังขยายไปคอนโดฯ

 

ครบเครื่องสร้าง-ขาย-โอน

ถัดจาก Product และ Brand เป็นขั้นตอนของกระบวนการมีการบริหารจัดการ 4 ด้านหลัก ได้แก่

1.การจัดซื้อที่ดิน (Land Process) ปัจจุบันตัดสินใจซื้อที่ดินในรูปแบบคณะกรรมการ ทำให้มีความโปร่งใสและสามารถใช้ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.นโยบายทำบ้านพร้อมอยู่ (Ready to Move in)

3.ไซต์ก่อสร้าง (Pool Construction) เรียกว่า กลยุทธ์บริหารแบบลงแขก

4. Post Finance (Bank Strategy)

               นายปิยะกล่าวถึงการบริหารการก่อสร้างว่า กลยุทธ์ลงแขกเพื่อลดคนแต่ทำงานได้เพิ่มขึ้น เวลาสื่อสารกับทีมงานจะสื่อสารเป็นรูปคนเกี่ยวข้าว หมายความว่าถ้าทำคนเดียวอาจไม่ทัน แต่หากล้อมวงช่วยกันทำก็เสร็จ เพราะมีบางโครงการขายดีกับบางโครงการยอดขายช้า

              แนวคิด คือ คนงานต้องไม่หยุดงาน มีงานทำทั้งปี รักษาการก่อสร้างได้อย่างคงที่ ผู้รับเหมาที่เป็น Subcontractors (ผู็รับเหมาช่วง) ก็ไม่ไปไหนเพราะมีงานทั้งปี ตอนนี้มีทีมรับเหมา 100 ทีม ทีมละ 150 คน เท่ากับทีมก่อสร้างมี 15,000 คน เคยคำนวณสัดส่วนของผมคิดเป็น 0.5% ของ GDP ประเทศ

              ในด้านสินเชื่อลูกค้ารายย่อย หรือ Post Finance มีการลงลึกรายละเอียดเพื่อผลักดันให้ลูกค้ากู้ผ่านให้มากที่สุด เนื่องจากตลาดหลักเป็นกลุ่มระดับกลาง-ล่าง มีการใช้สินเชื่อเป็นหลักและเจอปัญหากู้ไม่ผ่านหรือปฏิเสธสินเชื่อเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในวงการ เช่น จับคู่อาชีพลูกค้าให้สอดคล้องกับความถนัดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกัน การขายบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ เน้นขายบ้านพร้อมอยู่ ทำให้แก้ปัญหากู้ไม่ผ่านได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากลูกค้าเมื่อจองบ้านแล้วต้องรับโอนรวดเร็วภายใน 7 วัน-1 เดือน ไม่มีเวลาไปสร้างหนี้ใหม่ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ

 

ขยับราคา-ผลิตภัณฑ์

              กลยุทธ์สำคัญยังรวมถึงการ Focus ราคาและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นายปิยะกล่าวว่า คอนโดฯ ตลาดแวลู ปีที่แล้วประสบความสำเร็จจากแบรนด์พลัมคอนโด เดิมเน้นราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท/ยูนิต ปีนี้ขยับมาเป็นกลุ่มหลักราคา 3-5 ล้านบาท มองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าศักยภาพสูง รายได้ 30,000-50,000 บาท/เดือน เป็นมนุษย์เงินเดือน สถิติยอดกู้ไม่ผ่านต่ำ โดยมี 3 แบรนด์หลักคือ “The Tree-Urbano-Privacy” ทำเลรอบสถานีรถไฟฟ้าไม่เกิน 500 เมตร

            บ้านเดี่ยว ปีที่แล้วยอมรับว่ายอดขายและรายได้ลดลงเยอะ เหตุผลเพราะสร้างไม่ทัน ปีนี้ตั้งเป้ายอดพรีเซล 13,000 ล้านบาท ยอดโอน 15,000 ล้านบาท โดยปีนี้ขยายไปจับกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท/ยูนิตมากขึ้น เพราะมีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 40,000 ล้านบาท กลยุทธ์หลักเน้นทำบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ กับทำ Pre-Approve ก่อนจองเป็นหลัก ส่วนทาวน์เฮาส์ ตั้งเป้ายอดพรีเซลและยอดโอนใกล้เคียงกันอยู่ที่ 23,000-24,000 ล้านบาท ระดับราคายูนิตละ 2-2.5 ล้านบาท มีผลตอบรับดีมาก

 

ภาพ : Marketeer      /     ที่มา : www.prachachat.net

Leave a Reply