บางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าสายที่ 4 ของไทย

รูปที่ 1 บางใหญ่-เตาปูน

บางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าสายที่ 4 ของไทย

            เปิดหวูดไปแล้ว รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วง ‘บางใหญ่-เตาปูน’ 23 กม. หลังรัฐทุ่มลงทุนไป 59,942 ล้านบาท นับเป็นรถไฟฟ้าสายที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก “แอร์พอร์ตลิงก์”เปิดใช้ 23 ส.ค. 2553 และเป็นสายที่ 2 ของ“รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” หลังเว้นช่วง 12 ปี นับจากเปิดใช้สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) เมื่อ 3 ก.ค. 2547

บางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าสายที่ 4 ของไทย

            อีกทั้งยังเป็นรถไฟฟ้าสายแรกเชื่อมการเดินทางระหว่างเขตบางซื่อพื้นที่กรุงเทพฯกับจังหวัดนนทบุรี ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้ระบบเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น

             นอกจากความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่าสูงถึง 76,671 ล้านเยน จากการใช้เงินกู้ “ไจก้า-องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น” เพื่อก่อสร้างโครงการ

            กว่าจะมาถึงวันนี้ “รฟม.” ใช้เวลาผลักดัน 6 ปี นับจากตอกเข็มวันแรก 1 มี.ค. 2553 สมัย “รัฐบาลประชาธิปัตย์” ต่อเนื่องถึง “รัฐบาลเพื่อไทย” จนมาสิ้นสุดการรอคอยในยุค “รัฐบาล คสช.”

             จุดไฮไลต์ของสายสีม่วงไม่ใช่สามารถเปิดหวูดเร็วขึ้น 4 เดือน ในส่วนรูปแบบโครงสร้างยังเป็นที่สนใจ ด้วยทางวิ่งที่สร้างยกสูงถึง 17-19 เมตรจากระดับพื้นดิน เทียบเท่ากับตึก 6-7 ชั้น ส่วนสถานีมีพื้นที่ใช้สอย 3 ชั้น ที่ใหญ่โตโอ่อ่า

           “ชั้นล่าง” เป็นทางขึ้น-ลง อยู่ทางเท้า 2 ฝั่งถนน พร้อมพื้นที่พักคอย ส่วน “ชั้นที่ 2″ หรือบริเวณ Concourse เป็นชั้นบริการผู้โดยสาร จะเปิดโล่ง สามารถใช้เป็นสะพานลอยข้ามถนนได้ จะประกอบด้วย ตู้ขายตั๋ว เครื่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ ในบางสถานีผู้โดยสารสามารถใช้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังอาคารข้างเคียง หรืออาคารจอดรถได้ และ “ชั้นที่ 3″ ชานชาลา มีระบบประตู Platform Screen ที่เปิด-ปิดอัตโนมัติ

             ขณะที่ระบบเป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ สั่งผลิตจาก “บจ.J-TREC” ยักษ์ใหญ่แดนปลาดิบ มีกลุ่ม “JR East” หรือ บจ.อีสต์ เจแปน เรลเวย์ เป็นผู้ซ่อมบำรุงรักษาระบบให้ 10 ปี

            มีขบวนรถรองรับการบริการ ทั้งหมด 21 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 63 ตู้ จุดผู้โดยสารได้ 921 คน/ขบวน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ยกเว้นบริเวณโค้ง 5 แห่ง เช่น แยกบางใหญ่ แยกแคราย แยกติวานนท์ ที่สปีดความเร็วจะปรับลดลง เพื่อความปลอดภัย

             ส่วนผลพลอยได้จากรถไฟฟ้าสายใหม่นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นตัวช่วยปลุกมู้ดการค้าและการลงทุนตลอด 2 ข้างทางของ ถ.กาญจนาภิเษก รัตนาธิเบศร์ ติวานนท์ และกรุงเทพฯ-นนทบุรี ให้คึกคักได้ไม่น้อย โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการอสังหาฯโหมลงทุนรอล่วงหน้าไปแล้วหลายปี

             “ชายนิด อรรถญาณสกุล” บอสใหญ่ค่ายพร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สายสีม่วงเปิดใช้ จะส่งผลให้บรรยากาศตลาดอสังหาฯแนวราบและแนวสูงในแนวเส้นทางคึกคักขึ้น ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดินมีการปรับตัวขึ้นรวดเร็วมาก เช่น ที่ดินติดถนนรัตนาธิเบศร์ ตั้งราคาขายกว่า 1 แสนบาท/ตร.ว.

 

ที่มา : www.prachachat.net           /   ภาพ : www.livinginsider.com

Leave a Reply