บัตรแมงมุม 3 ประเภท พร้อมให้บริการ ต.ค.นี้

บัตรแมงมุม 3 ประเภท

บัตรแมงมุม 3 ประเภท

ส่องโฉม! บัตรแมงมุม 3 ประเภท

               รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า ขณะนี้ สนข.ได้กำหนดรูปแบบ บัตรแมงมุม 3 ประเภท ซึ่งเป็นบัตรที่จะใช้กับระบบตั๋วร่วม หรือบัตรใบเดียวสามารถใช้กับขนส่งสาธารณะทุกระบบแล้ว โดยแบ่งเป็น 1.บัตรบุคคลทั่วไป 2.บัตรนักเรียน/นักศึกษา และ3.บัตรผู้สูงอายุ โดยจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้

               นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานการบริหาร จัดการระบบตั๋วร่วมในปี 2560-2561 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เรื่อง การดำเนินการนำระบบตั๋วร่วม (e-ticket) มาใช้ในการเชื่อมการเดินทางของประชาชนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC)

ระยะเริ่มต้น 

1.สำนักธุรกิจบัตรโดยสารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฏเกณฑ์ทางธุรกิจ (Business Rule) สำหรับการใช้ตั๋วร่วมของผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการการเจรจากับผู้ให้บริการต่างๆ ในระบบตั๋วร่วม และลงนามในข้อตกลงกับผู้ให้บริการ (Service Provider Agreement) โดยคำนึงถึงรูปแบบการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้โดยสารและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

2.สนข.ให้สิทธิ รฟม.ใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) โดยทำสัญญาหรือหนังสือข้อตกลงระหว่าง สนข. และ รฟม.เพื่อเข้าดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบให้เป็นไปตามข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของสัญญาโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) ทั้งนี้ให้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3.รฟม.เจรจากับผู้ประกอบการภาคขนส่งและนอกภาคขนส่งเพื่อใช้งานระบบตั๋วร่วม โดยมี สนข.เป็นหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงาน

 

ระยะต่อไป

1.รฟม.จัดตั้งบริษัทภายใต้รัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ

2.สนข.ดำเนินการโอนสิทธิดังกล่าวให้ รฟม.ตามขั้นตอน โดยให้ สนข.นำเสนอเรื่องการส่งมอบระบบ ศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) ให้หน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเพื่อสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณานำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการเงินกู้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) ก่อนนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามขั้นตอนต่อไป

 

การดำเนินงานบูรณาการระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเพื่อใช้งานระบบตั๋วร่วม

ระบบขนส่งมวลชนปัจจุบัน คือ

1.รฟม.ปรับปรุงระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม

2.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ปรับปรุงระบบตั๋วของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม

3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ติดตั้งระบบตั๋วสำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 800 คัน ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม ทั้งนี้ ขสมก.มีแผนที่จะติดตั้งให้ครบ ๒,๖๐๐ คัน ภายในต้นปี 2561

4.ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BTS) จัดทำข้อตกลง (Service provider agreement) และติดตั้งระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม

5.ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) จัดทำข้อตกลง(Service provider agreement) และติดตั้งระบบตั๋วของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วม

 

                 สำหรับผู้ให้บริการนอกภาคขนส่ง (Non Transit) ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมเจรจากับร้านค้าและกิจการนอกภาคขนส่งให้เข้าร่วมใช้งานระบบตั๋วร่วมในการชำระค่าสินค้าและบริการ

               โดยในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม ปรับปรุงและพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) ให้รองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐ ให้สามารถใช้งานระบบตั๋วร่วมในภาคขนส่ง

 

ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ (Other Transit) คือ

1.ระบบทางพิเศษระบบทางหลวงพิเศษและระบบเรือโดยสารดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่มีการพัฒนาและจัดทำระบบนั้นๆแล้วเสร็จ

2.รถไฟฟ้าสายใหม่ ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าแต่ละสาย

 

                  ระบบตั๋วร่วมรองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย (E-Payment) ผ่าน “บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย” ของรัฐบาล

                  ระบบตั๋วร่วมได้ออกแบบให้สามารถรองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) โดยผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้บัตรสวัสดิการในการใช้บริการระบบขนส่ง เช่น ระบบรถโดยสารประจำทาง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการระบบตั๋วร่วมเข้ากับระบบจ่ายเงินเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยให้เริ่มใช้งานระบบตั๋วร่วมได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์      /    ภาพ : Review Your living

Leave a Reply