คืบหน้า สายสีแดง จ้างญี่ปุ่น คาดเสร็จ ปี 63

รูปที่ 4 คืบหน้า สายสีแดง

จ้างญี่ปุ่นผลิตรถไฟฟ้า วิ่งฉลุย คืบหน้า สายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต”

ญี่ปุ่นรับช่วงต่อ เซ็นแล้ว 3 หมื่นล้าน คืบหน้า สายสีแดง ปี 63 วิ่งฉลุย  

           นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมา โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) งานสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้า กับกิจการร่วมค้า MHSC โดยมี ฯพณฯ ชิโร ซะโตะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และนายฮิโร ทานากะ Chief Representative JICA Thailand Office ร่วมเป็นสักขีพยาน

           ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของบริษัทระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ประกอบด้วย Mitsubishi Heavy Industries บริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนโครงการต่างๆ ทั่วโลก

            บริษัท Hitachi บริษัทผู้ผลิตชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ผู้นำเสนอเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระบบรถไฟที่เป็นเลิศสำหรับระบบขนส่งทางราง และ บริษัท Sumitomo Corporation หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการค้าและการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น ที่มีสำนักงานอยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก

            โดยสัญญาที่ 3 จะครอบคลุมในส่วนของงานออกแบบและก่อสร้างรางรถไฟ ระบบไฟฟ้าและส่งกำลัง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบติดต่อสื่อสาร ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ และตู้รถโดยสาร ภายใต้มูลค่าสัญญา 32,399,999,699 บาท จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี คาดว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงวิ่วจากตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดบริการในปี 2563

           จะช่วยยกระดับการเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย

“สัญญาที่ 3 เปิดประมูลปี 2554 ล่าช้ามานานมาก หลังจากนี้จะเร่งรัดงานให้เสร็จตามแผน”

             สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนของสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2552 แล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ประกอบด้วย 3 สถานี คือ สถานีตลิ่งชัน สถานีบางบำหรุ และสถานีบางซ่อน ซึ่งในอนาคตจะมีโครงการจะก่อสร้างเพิ่มเติมอีก3 สถานี คือ สถานีบ้านฉิมพลี สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีสะพานพระราม 6 ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา

            สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ ประกอบด้วย 10 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก และสถานีรังสิต รวมระยะทางประมาณ 26.3 กิโลเมตร

            ที่ผ่านมา การรถไฟฯได้ทำสัญญาในส่วนของสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง กับกิจการร่วมค้า เอสยู ประกอบด้วย บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่างานตามสัญญา 29,826,973,512 บาท

           สัญญาที่ 2 ได้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการสำหรับงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ – รังสิต มูลค่างานตามสัญญา 21,235,400,000 บาท

 

ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ

1. ลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนน จำนวน 8 จุด และลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างสิ้นเชิง

2. สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรองรับการเดินรถที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเดินรถระบบไฟชานเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศได้อย่างมาก และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. ระบบขนส่งทางรถไฟที่สะดวก ทันสมัย ตรงเวลา จะจูงใจให้คนหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น โดยคาดว่าเมื่อเดินระบบรถไฟฟ้าจะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารจากรังสิตสู่บางซื่อ ไม่น้อยกว่า 306,608 คน/วัน ในปีที่เปิดดำเนินการ และเมื่อขยายโครงการจากบางซื่อไปชุมทางบ้านภาชีในอนาคต จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะมีประมาณ 449,080 คน/วัน

 

ภาพและข้อมูล : prachachat.net

Leave a Reply