เจาะลึกภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง สรุปประเด็น

เจาะลึกภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง

เจาะลึกภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง สรุปข้อยกเว้น-ขอลดหย่อน

เจาะลึกภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง “หอการค้าไทย” สรุปข้อยกเว้น-ขอลดหย่อน

                 หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบรับหลักการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ขณะนี้กรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่าง และสนช.อยู่ระหว่างศึกษา จะสิ้นสุดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 27 กันยายน 2560 โดย ล่าสุด นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แจ้งให้สมาชิกเสนอข้อคิดเห็นให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณา

                 ด้านสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้จัดสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย หัวข้อ ‘เจาะลึกภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง’ มีนายสนั่น อังอุบลกุล นายอธิป พีชานนท์ นายกลินท์ สารสิน ร่วมอภิปราย ผู้แทนฝ่ายภาครัฐ โดย ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ วิลาวัลย์ วีระกุล ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์ กรมธนารักษ์ ร่วมตอบข้อซักถาม

 

ซึ่งข้อเสนอในเบื้องต้นมี 4 ประเด็นที่จะมีการพิจารณา คือ

1.เสนอให้จัดเก็บภาษีเป็นอัตรา (Fixed Rate) เพื่อความสะดวกและลดอัตราภาษี โดยเฉพาะลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและเรียกร้องอามิสสินจ้าง

2.ไม่ควรคำนวณทรัพย์ส่วนกลางนิติบุคคลอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรรเป็นฐานการจัดเก็บภาษี เพราะถือเป็นทรัพย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่อยู่อาศัยโดยรวมในโครงการ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างพัฒนาให้ถือเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ ควรได้รับการลดหย่อนภาษี

3.ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ถูกรอนสิทธิ์ เช่น ที่ตาบอด ที่ในเขตผังเมืองที่ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง ควรได้รับการลดหย่อนภาษี

4.ไม่ควรมีบทลงโทษจำคุก กรณีหรือการกระทำที่ไม่มีเจตนา

 

                ประกอบกับ “ลลิล วราสินธุ์” ที่ปรึกษาทางการเงิน Wealth Star Consunlting Group ได้บรรยายสรุปประเด็นไว้ว่า

              ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่คลอดออกมาเป็นตัวกฎหมาย เพราะมีปัญหาข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ มีการเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขบางประการ จากเดิมกำหนดคลอดปี 2560 ล่าสุดคงเป็นปีหน้าและบังคับใช้ในปี 2562

 

– ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งการเก็บจะชัดเจนมากกว่าเดิม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน กระตุ้นให้นำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากกว่าปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่า

– ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบ่ง 4 ประเภท คือ ประเภทเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า โดยใช้ราคากลางของกรมที่ดินที่ประเมินใหม่เป็นหลักการประเมินการจัดเก็บภาษี

– ที่ดินประเภทเกษตรกรรม อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บไม่เกิน 0.2% ถ้ามูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี เสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 50 ล้านแรก

– ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.5% สำหรับบ้านหลังแรกที่เป็นเจ้าบ้านเอง มูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี แต่ บ้านหลังที่ 2 ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องเสียภาษีเต็มจำนวนมูลค่าทรัพย์สินนั้น ๆ

– ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม เช่น ตึกแถว คอนโดฯ อัตราภาษีไม่เกิน 2% ของราคาประเมินใหม่ในปัจจุบัน

– ที่ดินประเภทที่ว่างเปล่า เริ่มเสียภาษีตั้งแต่มีมูลค่าที่ 2% สูงสุดไม่เกิน 5% โดยจะปรับอัตราภาษีเพิ่มทุก ๆ 3 ปี ปีละ 0.5% จนถึงอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินในแปลงที่ดินที่ว่างเปล่าดังกล่าว ถ้าที่ดินนั้น ๆ ยังคงมีสภาพที่ว่างเปล่าเหมือนเดิม อัตราภาษีจะปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี

– บ้านหลังแรกที่ได้รับการยกเว้นภาษีนั้น ถ้าบ้านหลังแรกมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่ถ้าบ้านบวกที่ดินมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เช่น มีมูลค่า 70 ล้านบาท ก็ต้องนำส่วนเกิน 20 ล้านบาทมาเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

– ที่ว่างเปล่า ไม่มีการยกเว้นมูลค่าที่ดินขั้นต้น ราคาประเมินใหม่เท่าใด ใน 3 ปีแรก ต้องเสียภาษีอัตราต่ำสุด เริ่มที่ 2% ของมูลค่าประเมินราคาใหม่ของที่ดินแปลงดังกล่าว

 

               สำหรับภาษีมรดก เป็นภาษีตัวใหม่ที่ประกาศใช้แล้ว จุดมุ่งหมายเพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนให้ลดลง เพื่อให้ไม่มีฐานความรวย ความจน ห่างกันมากเกินไป

            อัตราภาษีมรดกของไทย จะมีอัตราต่ำมากถ้าเทียบกับอัตราภาษีมรดกของประเทศอื่น ๆ คือ อัตราภาษีมรดกของไทยนั้น จะอยู่ระหว่าง 5-10% ของราคาประเมินเท่านั้น ส่วนอัตราภาษีมรดกของญี่ปุ่น มีอัตราภาษีอยู่ที่ 10-50%

               ในหลาย ๆ ประเทศ ผู้ที่เป็นอัศวิน หรือผู้ที่เป็นเจ้าของปราสาทต่าง ๆ เวลาอัศวินเจ้ามรดกตาย หรือเจ้าของปราสาทตาย ทายาทไม่ต้องการรับมรดกเป็นตัวปราสาทราคาแพง จะต้องหาเงินสดมาเสียภาษีมรดกในอัตราสูง ในที่สุด ปราสาทต่าง ๆ ก็ตกเป็นของรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ โดยนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ที่ผ่านมา ในประเทศไทย พวกตระกูลใหญ่ ๆ หรือผู้ที่มีความร่ำรวย ได้ทำการโอนทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ลูกหลานไปก่อนที่กฎหมายมรดกจะมีผลใช้บังคับ

            กฎหมายเกี่ยวกับมรดกเริ่มใช้บังคับแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นมา เมื่อใดที่เจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกอาจเป็นทายาทโดยธรรม หรือผู้ได้รับมรดกตามพินัยกรรมก็ตาม ที่รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีมรดก

 ขอย้ำว่า มรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท ลูกหลานไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่ถ้าเคยได้รับมรดกจากใครมาแล้ว ตัวอย่างเช่น ครั้งแรก ได้รับมรดกจากพ่อ 70 ล้าน ต่อมา อีก 2 ปี แม่ตาย ได้มรดกจากแม่อีก 50 ล้าน กรณีนี้ถือว่าบุคคลผู้นั้นได้รับ 70 ล้าน นำมาบวกที่รับจากแม่ใหม่ 50 ล้าน ก็ถือว่าได้รับมรดกมาทั้งหมด รวมเป็น 120 ล้าน ในส่วน 20 ล้าน ที่เกิน 100 ล้านดังกล่าวนี้ ต้องเสียภาษีมรดก

               มรดกนั้น รวมทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน กรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ ของเจ้ามรดกด้วย เจ้ามรดกตายก่อน 1 ก.พ. 2559 มรดกดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษี คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับมรดก ไม่ต้องเสียภาษี

               ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดา เเละนิติบุคคล รับมรดกทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ ก็ต้องเสียภาษีมรดก แต่จะเสียภาษีในส่วนที่ได้จากประเทศไทยเท่านั้น ส่วนคนต่างด้าว รับมรดกที่อยู่ในประเทศไทย ก็ต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน ไม่ว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม เฉพาะทรัพย์มรดกที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ถ้าเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ใช้ราคาประเมินจากกรมที่ดินเป็นหลัก ที่ดินที่ว่างเปล่าเมื่อถนนตัดผ่าน ราคาอาจพุ่งสูงมากขึ้น รวมราคาประเมินเกิน 100 ล้านเมื่อไร ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีมรดกตามราคาประเมินใหม่ สำหรับสินทรัพย์อื่น ๆ แต่ละประเภท สามารถดูราคาประเมินสินทรัพย์ได้จาก

– หุ้น ดูตามราคาตลาด ณ วันที่รับมรดก

– เงินฝากในธนาคาร และเอกสารการให้กู้ยืมต่าง ๆ ณ วันเจ้ามรดกตาย

– ยานพาหนะ ใช้ราคาประเมินสูงสุด และต่ำสุด มาหารเฉลี่ย

– ทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น งาช้าง หุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ทรัพย์สินทุกอย่าง ต้องประเมินราคาใหม่ทั้งหมด

                ทรัพย์สินที่ไม่มีหลักฐาน ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เช่น ทองคำ เพชรพลอย พระเครื่อง ฯลฯ เพราะไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ถ้ามีหลักฐานว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ เมื่อเป็นมรดกก็ต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษีมรดกเช่นเดียวกัน

             ผู้ที่ได้รับมรดก กฎหมายยกเว้นไม่เสียภาษี คือถ้ายกสินทรัพย์นั้น ๆ ให้แก่สาธารณะกุศล ยกมรดกให้เพื่อการศึกษา ยกมรดกให้แก่รัฐบาล มิใช่ยกให้มูลนิธิของครอบครัว

              มรดกนั้น รวมทรัพย์สิน หักหนี้สิน ที่ได้รับมาทุกครั้งรวมกัน ถ้าเหลือมูลค่าเกิน 100 ล้าน ต้องเสียภาษีมรดก ส่วนผู้สืบสันดาน หรือบุพการี ลูกหลานที่ได้รับมรดกมาต้องเสียภาษี 5% ถ้าผู้อื่นรับมรดก ผู้อื่นนั้นต้องเสียภาษี 10% ของทรัพย์สินที่เกิน 100 ล้านแรก ส่วนคู่สมรส ไม่ต้องเสียภาษีมรดก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนทรัพย์มรดกเท่าไร

             ภาษีที่ต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่มรดกนั้นอาจเป็นที่ดินที่ยังขายไม่ได้ ย่อมเป็นทุกขลาภของผู้รับมรดก ที่ต้องยื่นแบบการเสียภาษีมรดกภายใน 150 วัน นับแต่เจ้ามรดกตาย ผู้ได้รับมรดกจะอ้างว่าไม่ทราบที่ต้องยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษี จึงไม่ได้ยื่น อ้างแบบนี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายภาษีประกาศใช้แล้ว

 

ภาพ : Rabbit Daily    /   ที่มา : www.prachachat.net/property

Leave a Reply