จีน-ซีเมนส์ ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน ‘สายสีน้ำเงิน’

รูปที่ 1 ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน

จีน-ซีเมนส์ รุกหนักรถไฟฟ้า ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน ‘สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย’

รายงานพิเศษ ‘ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน’ จีน-ซีเมนส์

           ภาพเปิดแชมเปญฉลองออร์เดอร์ซื้อรถไฟฟ้าบีทีเอสบิ๊กลอต 184 ตู้ หรือ 46 ขบวน มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน และมีสักขีพยานนับ 100 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา

          ว่ากันว่าเป็นอีเวนต์ใหญ่ในรอบหลาย ๆ ปีของ “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” นับจาก “เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์” รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายนี้จาก “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงขณะนี้ 17 ปี มีรถไฟฟ้า 52 ขบวน รวม 208 ตู้ และผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน

         งานนี้ไม่แค่ตอกย้ำความสำเร็จของ “เสี่ยคีรี” ที่กล้าลงทุนครั้งใหญ่ ยังแสดงถึงศักยภาพของผู้ผลิตรถไฟฟ้า 2 ประเทศ “จีน-เยอรมนี” ที่ยังยึดตลาดประเทศไทยไว้อย่างเหนียวแน่น แม้จะมี กลุ่มกิจการร่วมค้ามารุเบนิ-โตชิบา ควง “J-TREC” หรือ บจ.เจแปน ทรานสปอร์ตเอ็นจิเนียริ่ง และ “JR-East”หรือ บจ.อีสต์เจแปน เรลเวย์ จากญี่ปุ่น คว้าเค้กสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูนเป็นคู่แข่งเพิ่มในตลาด

14645878161464587887l

ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน

            จึงไม่แปลกที่ “บจ.ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล” ผู้ผลิตจากจีน และ “บจ.ซีเมนส์” ยอมควักเงินร่วมหลักล้านเนรมิตพื้นที่จัดงานเป็นทั้งเวทีแถลงข่าวพ่วงบูทโชว์เทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่ทั้ง 2 บริษัทผลิต

             เพื่อหวังขยายผลไปถึงการสั่งซื้อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค” ระยะทาง 27 กม. อีก 28 ขบวน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ “รัฐบาล คสช.” สั่งการให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เร่งหาเอกชนรับสัมปทานเดินรถเป็นระยะเวลา 30 ปี

            ซึ่ง “ซีเมนส์” มีแต้มต่อดีกว่าผู้ผลิตรายอื่น เพราะระบบรถไฟฟ้าใต้ดินใช้ของซีเมนส์ และเป็นการยากที่จะปลดล็อกระบบให้รถประเทศอื่นมาวิ่ง ขณะที่ “จีน” มีจุดเด่นเรื่องราคาถูกกว่ารายอื่น ปัจจุบันรถจีนมีหลายเกรดให้เลือกสรร ที่สำคัญทั้ง “ซีเมนส์และผู้ผลิตจีน” ก็เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน

ไม่นานเกินรอคงได้รู้กัน ชื่อซัพพลายเออร์จาก “เยอรมนี-จีน-ญี่ปุ่น” ใครจะเข้าวิน !

            ขณะที่ภาพการลงทุนต่อจากนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเพิ่มการลงทุนของเอกชนให้มากขึ้น จะเร่งโครงการรถไฟฟ้าให้ประมูลโดยเร็ว ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว 3 เส้นทาง เงินลงทุนรวม 203,794 ล้านบาท ได้แก่ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) วงเงิน 56,690 ล้านบาท สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) วงเงิน 54,644 ล้านบาท และสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) วงเงิน 92,460 ล้านบาท ส่วนเส้นทางที่เหลือจะอนุมัติให้ได้ภายในปีหน้า

          “มิ.ย.ทั้ง 3 เส้นทางจะประมูล เพื่อให้มีการลงทุนในประเทศ เอกชนไม่ลงทุน จีดีพีจะเติบโตได้อย่างไร เอกชนคือนักรบทางเศรษฐกิจ เราต้องดูการตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้าวันนี้ราคากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่คุณคีรีกล้าเข้ามาลงทุน เป็นตัวอย่างเอกชนที่ลงทุนเพื่ออนาคต ไม่มีการลงทุนช่วงไหนเหมาะมากเท่าช่วงนี้ ดอกเบี้ยก็ต่ำ อยากให้เอกชนใจกล้ามาลงทุน”

14645878161464587870l

ชิงเค้ก 2 หมื่นล้าน

             ขณะที่ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า ได้ซื้อรถใหม่ 46 ขบวน 184 ตู้ ราคา 1.1 หมื่นล้านบาท หากรวมค่าซ่อมบำรุงอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท นับเป็นครั้งใหญ่ของบริษัทในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นรถของซีอาร์อาร์ซี 24 ขบวน ซีเมนส์ 22 ขบวน เพื่อรองรับการบริการสายเดิมและส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต จะทยอยรับมอบต้นปี 2561-2563 รวมของเดิมมี 52 ขบวน 208 ตู้ แยกเป็นของซีอาร์อาร์ซี 17 ขบวน และซีเมนส์ 35 ขบวน จะเป็น 98 ขบวน 392 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้อีก 10 ปีนับจากนี้

             “เงินลงทุนจะใช้เงินสดที่มีอยู่และกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน ผลงานของเรา 10 กว่าปีมานี้ ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็คงสนใจและเชื่อมั่นในการบริหารงานของเรา” นายคีรีกล่าวและว่า

             ขณะเดียวกันบริษัทพร้อมจะเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้า ในเดือน มิ.ย.นี้จะเข้าร่วมประมูลรถโมโนเรลสายสีชมพู และสีเหลือง ซึ่งบริษัทมีพันธมิตรเป็นผู้ผลิตโมโนเรลจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, แคนาดา, จีน และมาเลเซีย ยังไม่ได้สรุปจะร่วมกับผู้ผลิตรายไหน ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างจะร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น รวมถึงงานเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่บริษัทก็มีความสนใจเช่นกัน

ภาพและข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

Leave a Reply