บ้านประชารัฐ คสช. ส่อแววร่วง เหตุหนี้ครัวเรือน

บ้านประชารัฐ คสช.

บ้านประชารัฐ คสช.

          ลุ้นกันหลายยกกว่าที่ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” จะมีมติในวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้เดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองซึ่งกว่าโมเดลจะตกผลึกก็วิเคราะห์กันหลายรอบ จนออกมาเป็นบ้านประชารัฐที่เอกชนพัฒนา เป็นโครงการบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เริ่มรันกันไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา อีกเวอร์ชั่นที่เพิ่งประกาศใหม่หมาด เป็น “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ” หรือ ‘บ้านประชารัฐ คสช.’ สร้างบนที่ดินเช่าของกรมธนารักษ์ นำร่อง 6 แปลงทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จำนวน 4,000 ยูนิต ล่าสุดกำลังเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการถึงวันที่ 2 มิ.ย.นี้

          ความน่าสนใจของ ‘บ้านประชารัฐ คสช.’ อยู่ที่รัฐบาลมีสินเชื่อบ้าน (โพสต์ไฟแนนซ์) สนับสนุนผ่าน 2 แบงก์รัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ที่อัดฉีดวงเงินกู้ให้ถึง 4 หมื่นล้าน พ่วงดอกเบี้ยพิเศษ 0% 1 ปี สำหรับวงเงินไม่เกิน 7 แสนบาท หากเกินจากกรอบนี้จะได้อัตราคงที่ 3% 3 ปี

          นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำระยะ 6 ปี และปรับเกณฑ์ภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) ให้สูงสุด 50% จากโดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 30% ทำให้ผู้ซื้อบ้านจะมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น พร้อมทั้งฟรีค่าโอน ค่าจดจำนอง ค่าส่วนกลาง 1 ปี และลดราคาเพิ่มอีก 2% โดยให้ผู้ประกอบการสนับสนุนส่วนนี้

          ซึ่งการที่รัฐบาลปรับเกณฑ์ใหม่ให้ผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อจะเป็นการแก้ปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อยโดยตรง เพราะในช่วงปี 2558 ต่อเนื่องถึงปีนี้ ทางสถาบันการเงินยังเข้มงวดปล่อยกู้สินเชื่อสูงขึ้นจนอัตรารีเจ็กต์เรตขยับขึ้น จากข้อมูล ธ.ไทยพาณิชย์ล่าสุดสูงขึ้นจาก 20% เป็น 23% และจาก ธ.กสิกรไทย ขยับขึ้นประมาณ 5% ทุกกลุ่มราคา โดยเฉพาะกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 40-45%

          ดังนั้นเมื่อ “ธอส.และออมสิน” เปิดให้ยื่นกู้สินเชื่อบ้านโครงการบ้านประชารัฐแล้วประมาณ 1 เดือน จึงไม่แปลกที่จะมีผู้สนใจยื่นกู้แบบมืดฟ้ามัวดิน โดย ธอส.มีคำขอกู้ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ออมสินมีผู้ยื่นกู้ที่ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท แต่การอนุมัติกลับยังไม่เป็นตามคาด ฝั่ง ธอส.อนุมัติแค่ 3,000 ล้านบาท

          ส่วนออมสิน 6,855 ล้านบาท รวมเป็น 9,855 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท เพราะเมื่อสแกนไส้ในผู้กู้แล้ว ยังมีภาระหนี้และติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร จึงทำให้การอนุมัติกู้ยังไม่เข้าเป้าอย่างที่รัฐบาลหวัง ทางฝั่งผู้ประกอบการเอง ก็ฝันสลายกับโครงการนี้เช่นกัน

         “โอภาส ศรีพยัคฆ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดอนุมัติสินเชื่อแสดงให้เห็นว่า โครงการบ้านประชารัฐกระตุ้นยอดขาย-ยอดโอนน้อยกว่าที่คาดไว้ เพราะผู้มีรายได้น้อยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก แม้ว่าจะปรับเกณฑ์ DSR แล้วก็ตาม และวงเงินค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับดีมานด์ ยกตัวอย่างธนาคารออมสินซึ่งปิดรับคำขอยื่นกู้รอบแรกภายใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากยื่นกู้เต็มวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ก่อนจะเปิดเพิ่มเติมรอบที่ 2 อีก 3,000-5,000 ล้านบาท

           และเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ลดราคา ฟรีค่าโอน-จดจำนอง ถือเป็นโปรโมชั่นปกติที่ดีเวลอปเปอร์มักจะจัดแคมเปญอยู่แล้ว ทำให้ผู้ซื้ออาจไม่ตอบสนองมากนัก มองว่าตลาดมีความคึกคักตอบรับโครงการบ้านประชารัฐน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยแอล.พี.เอ็น.มียอดขายบ้านประชารัฐช่วงก่อนหยุดเทศกาลสงกรานต์เพียง 700 ยูนิต แบ่งเป็นลูกค้าองค์กร 400 ยูนิต และลูกค้าวอล์กอิน 300 ยูนิต จากสต๊อกที่เข้าร่วมทั้งหมด 3,000 ยูนิต แต่คาดหวังว่าหลังจากนี้ลูกค้าอาจมีความคึกคักมากขึ้น

          ด้าน บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศนำสต๊อก 4,539 ยูนิต มูลค่ากว่า 4,700 ล้านบาท เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ ต่อเรื่องนี้ “ปิยะ ประยงค์” กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจแวลู กล่าวว่า ยอดขายจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีเพียง 166 ล้านบาท เห็นได้ว่าบ้านประชารัฐไม่กระตุ้นยอดขาย

             “บ้านประชารัฐไม่สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายได้ เพราะผู้ซื้อกลุ่มนี้โปรไฟล์การขอกู้เขาไม่ผ่านมาตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนแล้ว อย่างที่เห็นว่าอัตราหนี้ครัวเรือนยังสูงอยู่ และหลายคนติดปัญหาเครดิตบูโร”

           ถึงนาทีนี้ส่อเค้าว่าโครงการจากความตั้งใจดีของ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ดูแล้วอาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะติดกับดักหนี้ครัวเรือนสูง เมื่อสถาบันการเงินไม่ปล่อยผี และจำเป็นต้องเข้มงวด เพื่อไม่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นในระบบ

 

ที่มา : www.prachachat.net   /   ภาพ : www.moneychannel.co.th

Leave a Reply