ส่องโมเดล “อิตาลี-ฝรั่งเศส” พัฒนาสถานีหนุน รถไฟความเร็วสูง

รถไฟความเร็วสูง

การพัฒนา รถไฟความเร็วสูง ให้สำเร็จ หลายประเทศพูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ได้มาจาก “ค่าตั๋ว” สิ่งสำคัญนั่นคือการพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในและโดยรอบสถานี ที่เรียกว่า “TOD-transit oriented development” ทำให้การประมูล รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท นอกจากเอกชนได้สิทธิ์บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ และสถานีไฮสปีดเทรนทั้ง 9 แห่ง

ยังได้ของแถมเป็นที่ดินติดสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ เพื่อพัฒนาสร้างรายได้ 50 ปี โดยเอกชนต้องใช้เม็ดเงินเนรมิตทั้ง 2 สถานี กว่า 45,000 ล้านบาท และจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐ 51,000 ล้านบาท

ยังไม่มีใครตอบได้ โมเดลที่หลายประเทศใช้กันจะประสบความสำเร็จในประเทศไทยหรือไม่ ในเมื่อไลฟ์สไตล์การเดินทางต่างกัน ซึ่งชาวต่างประเทศนิยมชมชอบการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน ขณะที่คนไทยยังไม่ใช่ ในเมื่อรถยนต์ยังตอบโจทย์การเดินทางที่ถึงจุดหมายปลายทางสะดวกสบายมากกว่า

มีโอกาสได้ใช้บริการ รถไฟความเร็วสูง ของประเทศอิตาลี จาก “โรม-ฟลอเรนซ์” ระยะทาง 232 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง จุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานี “โรม่า แทรมินี” (Roma Temini) ที่นี่นอกจากจะเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟของ “FS-บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี” ยังเป็นสถานีศูนย์กลางการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ของประเทศอิตาลี และใกล้เคียง

รถไฟความเร็วสูง

ทำให้สถานีนี้บรรยากาศคึกคักด้วยผู้คนที่เข้ามาใช้บริการ สำหรับการพัฒนาสถานีด้านนอกเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ รายล้อมด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะนำคนจากสถานีนี้ไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ทั้งแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง

ขณะที่ภายในสถานีเหมือนเป็นสนามบินย่อม ๆ ออกแบบพื้นที่ใช้สอยเป็น 3 ชั้น มีชั้นใต้ดิน ชั้น 1 ที่จัดสรรพื้นที่เป็น “เลานจ์” สำหรับลูกค้า V.I.P. จุดแสดงข้อมูลการเดินทางและพื้นที่ร้านค้าแบ่งเป็นล็อก ๆ บริเวณโถงกลางและด้านข้าง เช่น ร้านเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ร้านขายยา แมคโดนัลด์ ส่วนชั้น 2 จัดสรรพื้นที่เป็นโถงพักคอย ศูนย์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านกาแฟ

อีกสถานีที่น่าสนใจ “สถานีรถไฟของเมืองฟลอเรนซ์” บรรยากาศก็คลาคล่ำด้วยผู้คน อาจจะเป็นเพราะฟลอเรนซ์เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีคนมาใช้บริการมาก

ส่วนภายนอกสถานี จะมีสถานีจอด “รถไฟฟ้าแทรม” ที่รับส่งคนไปยังจุดต่าง ๆ ของเมือง ขณะที่บรรยากาศโดยรอบก็ดูคึกคักไปด้วยอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ มีทั้งโรงแรม และแหล่งการค้าเพื่อมารองรับนักท่องเที่ยว เพราะจากสถานีสามารถเดินไปยังจุดท่องเที่ยวได้

รถไฟความเร็วสูง

มาดูโมเดลพัฒนาของประเทศ “ฝรั่งเศส” ซึ่งมีโอกาสได้นั่ง รถไฟความเร็วสูง TGV จากนครปารีส มุ่งหน้าสู่แรงส์ (Reims) ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 45 นาที โดยใช้บริการสถานี “GARE DE L”EST” ตั้งอยู่ใจกลางนครปารีส

รูปแบบอาคารสถานีเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่โปร่งโล่ง จากการดีไซน์ทำให้บรรยากาศของที่นี่คล้ายสถานีรถไฟหัวลำโพงของบ้านเรา ขณะที่การจัดสรรพื้นที่ภายในสถานีจะมีร้านค้าตั้งเรียงไม่ว่าจะเป็นกาแฟแบรนด์ดังอย่างสตาร์บัคส์ ที่ตั้งร้านขนาดย่อมไว้ดักลูกค้าตรงทางเข้า-ออกชานชาลา เช่นเดียวกับสถานีปลายทาง “GRDE DE REIMS” บรรยากาศก็คึกคักไม่ต่างกันแม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม

สำหรับ “ฝรั่งเศส” เดินรถไฟความเร็วสูงมากว่า 37 ปี มี “SNCF-บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส” บริหาร มี 230 สถานี รวมระยะทาง 824 กม. มีพื้นที่ค้าปลีกและสำนักงาน 2 ล้านตร.ม.ที่พัฒนาสร้างรายได้เกื้อหนุนโครงการ

ล่าสุดกำลังทุ่มเงิน 1,000 ล้านยูโร หรือ 38,000 ล้านบาท รีโนเวต “สถานี Austerlitz” สถานีเก่าแก่ 191 ปี พื้นที่ 23,000 ตร.ม. ให้รองรับรถไฟ TGV จากปัจจุบันจะมีแค่รถไฟธรรมดาและรถไฟฟ้าใต้ดิน มีรถบริการ 100 ขบวน และผู้โดยสารมาใช้บริการ 23 ล้านเที่ยวคนต่อปี เมื่อปรับโฉมเสร็จจะมีรถเพิ่มเป็น 200 ขบวน และผู้โดยสาร 50 ล้านเที่ยวคนต่อปี มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567

เมื่อรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวขับเคลื่อนเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศไม่หยุดการพัฒนา

ส่วน “TOD” ประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน นอกจากการลงทุนเอกชนสร้างศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียมเกาะไปตามแนวและสถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น

ขอขอบคุณประชาชาติ

Leave a Reply