จากอุโมงค์ยักษ์ “บึงหนองบอน” ถึงคิว “คลองเปรม” หมื่นล้าน

คลองเปรม
แม้ปีนี้จะเป็นปีที่ประเทศไทยจะมีภาวะแล้งหนักในหลายพื้นที่ แต่การลงทุนโครงการป้องกันน้ำท่วมก็ยังคงเดินหน้าต่อ

โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของประเทศ ซึ่ง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ยังคงเดินหน้าอุโมงค์ยักษ์ที่บรรจุไว้ในแผนงาน

ลุยอุโมงค์ คลองเปรม ประชากร

ปัจจุบันกำลังโหมสร้าง “อุโมงค์บึงหนองบอน” ตัวช่วยน้ำท่วมขังฝั่งตะวันออกในเขตประเวศ สวนหลวง บางนา และพระโขนง มี บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 4,925 ล้านบาท

เป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 9.40 กม. รับน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกจากบึงรับน้ำหนองบอนลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถ.ศรีนครินทร์ ถ.อุดมสุข ถ.สุขุมวิท 101/1 และคลองบางอ้อ ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบริษัทไม้อัดไทย (เดิม) รวมพื้นที่ 85 ตร.กม.หลังเริ่มสร้างเมื่อปี 2558 ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 30% ยังล่าช้าจากแผนเลื่อนเสร็จเป็นกลางปี 2564

ล่าสุด กทม.จะของบฯสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ คลองเปรม ประชากร โดยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จะเดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ คลองเปรม ประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ฝั่งตะวันออก 5 เขต 109 ตร.กม.

ตร.อุโมงค์

แก้น้ำท่วมขังพื้นที่ 5 เขต

ได้แก่ เขตสายไหม (ซ.พหลโยธิน 54/1 แยก 4 ชุมชนวัดเกาะ และ ถ.ธูปะเตมีย์) บางเขน (วงเวียนหลักสี่ หมู่บ้านอัมรินทร์, หมู่บ้านเธียรสวน และกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) จตุจักร (ถ.เทศบาลสงเคราะห์, วัดเสมียนนารี, แยกเกษตร, หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 และหมู่บ้านสินพัฒนา) ดอนเมือง (สนามบินดอนเมือง, ถ.สรงประภา, ถ.เชิดวุฒากาศ, ถ.ประชาอุทิศ, ถ.โกสุมรวมใจ, ถ.ช่างอากาศอุทิศ และ ถ.วัดเวฬุวนาราม) และหลักสี่ (ถ.แจ้งวัฒนะ หน้าศูนย์ราชการ และ ม.ราชภัฏพระนคร)

“บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มต่ำจะรับมวลน้ำ 2 คลองหลัก คือ คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว โดยการระบายน้ำอาศัยการระบายลงคลองสายหลักเป็นส่วนใหญ่ เพื่อระบายมวลน้ำทั้งหมดลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อระบายน้ำลงในคลองสายหลักจนมีระดับน้ำสูง จะทำให้การระบายน้ำด้วยการสูบน้ำทำได้ยากขึ้น กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่บ่อยครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนงานระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำเดิม กทม.จึงเร่งโครงการนี้ขึ้นมา”

6 โครงการงบฯ 9.8 พันล้าน

นายวิษณุ เจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการและนวัตกรรมจัดการน้ำ สำนักระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯก่อสร้าง 9,600 ล้านบาท และงบฯสำหรับจ้างที่ปรึกษาและวิศวกรคุมงาน 200 ล้านบาท

แบ่งพัฒนา 6 แผนงาน จะแล้วเสร็จปี 2567 ได้แก่ 1.แผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ยาว 13.5 กม. มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.7 เมตร ระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คิดเป็น 5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน 2.อาคารรับน้ำแห่งที่ 1

บริเวณริมคลองบางบัว 3.อาคารรับน้ำแห่งที่ 2 บริเวณริมคลองเปรมประชากร แถววัดหลักสี่ 4.อาคารรับน้ำแห่งที่ 3 บริเวณริมคลองบางเขน 5.อาคารรับน้ำแห่งที่ 4 บริเวณ ถ.รัชดาภิเษก และ 6.อาคารสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคลองซุง เขตบางซื่อ โดยงบประมาณของแต่ละส่วนงานอยู่ระหว่างคำนวณราคากลาง

รื้อ 42 ชุมชน-ลงเข็มปี”63

ขณะนี้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่วนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้จัดทำเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพราะผลกระทบกับชุมชนมีเพียงแค่ 42 ครัวเรือน ไม่ได้กระทบมากจนต้องทำ EIA

ต่อจากนี้ที่ปรึกษาโครงการจะสรุปรายละเอียดทั้งหมด จากนั้นจะต้องรอสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่ง กทม.ได้เสนอของบฯ สำหรับโครงการนี้ไปแล้วคาดว่าในเดือน ต.ค.หลังจากที่มีการเปลี่ยนปีงบประมาณจะประมูล e-Bidding คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาและเริ่มก่อสร้างในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จในปี 2567

ลุยคลองลาดพร้าว-ทวีวัฒนาต่อ

นอกจากนี้ กทม.มีแผนที่จะผลักดันโครงการอุโมงค์ระบายน้ำอีก 2 โครงการ เงินลงทุน 3,900 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ความยาวอุโมงค์ 2 กม. เงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท

และ 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ความยาวอุโมงค์ 2 กม. เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการผ่าน ครม.แล้ว อยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณปี 2563

ขอขอบคุณประชาชาติ

Leave a Reply