พิ้นที่เวนคืน และรื้อย้ายแนวรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

เวนคืน
ดูเหมือนหนทางจะฉลุย พลันที่ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี. ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท แลกสัมปทาน 50 ปี

ล่าสุด “EIA-รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” ของโครงการ ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อ 24 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

ไฮสปีด ซี.พี.ติดหล่มพื้นที่

แต่สุดท้ายต้องมาติดหล่มปม เวนคืน ที่ดิน หลังจาก “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” คู่สัญญา ยังสแกนพื้นที่ที่จะส่งมอบให้ ซี.พี.ไม่แล้วเสร็จ ทำให้กำหนดการต้องเลื่อนออกไป จากเดิมกำหนดเซ็นสัญญาวันที่ 28 มิ.ย. 62 เลื่อนเป็นภายใน ก.ค.นี้

หนึ่งในเหตุผลหลักมาจากเจ้าของพื้นที่ คือ ร.ฟ.ท. ในช่วงที่ผ่านมามีตัวอย่างการเข้าพื้นที่สัมปทานเพื่อลงมือก่อสร้างโครงการ แต่ภาคเอกชนผู้รับสัมปทานมักจะสะดุดปัญหาใหญ่ในเรื่อง “การรื้อย้ายผู้บุกรุก” เนื่องจากปัญหาสั่งสมเป็นหลายสิบปี จากกรณีให้เช่าเบี้ยหัวแตก ทั้งแบบมีและไม่มีสัญญาเช่า

โครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน กลุ่ม ซี.พี.ต้องการให้ ร.ฟ.ท.ทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้ชัดเจน ลงลึกรายละเอียดด้วยการระบุวัน-เดือน-ปีที่จะส่งมอบแบบในสัญญา ไม่ใช่ระบุกว้าง ๆ แบบ “เหมาปี” อย่างที่ ร.ฟ.ท.ประเมิน เงื่อนไขเวลาต้องเคลียร์ตรงนี้จบเสียก่อน การเซ็นสัญญาถึงจะเกิดขึ้น

แน่นอนว่ากลุ่ม ซี.พี.ประเมินแล้วได้ไม่คุ้มเสีย หากเร่งรีบเข้าพื้นที่ปักไซต์ แต่การก่อสร้างไม่เสร็จใน 5 ปี สิ่งที่ทำได้คือขอต่อเวลาก่อสร้างออกไป สำหรับภาครัฐอาจจะเสียแค่เวลา แต่สำหรับกลุ่ม ซี.พี.ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยงที่เอกชนต้องแบกรับไว้เอง 

ลงเซอร์เวย์ผงะ-ผู้บุกรุกอื้อ

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อต้องการเห็นสภาพจริง และจัดทำแผนก่อสร้างให้สอดรับกับการส่งมอบพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.จึงได้ทำการเซอร์เวย์ภาคสนามอีกครั้ง พบว่ามีปัญหามากกว่าที่ ร.ฟ.ท.เก็บข้อมูล

โดยเฉพาะพบกรณีผู้บุกรุกที่มีจำนวนงอกขึ้นมาใหม่ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯมี 400 หลัง กระจุกตัวมากสุดช่วง “พญาไท-หัวลำโพง” เกิน 270 หลัง, พื้นที่นอกเมืองมี 600 หลัง กระจุกอยู่โซน “ศรีราชา-พัทยา” ยังไม่นับรวมบางพื้นที่เข้าไปสำรวจไม่ได้อีกต่างหาก เพราะเป็นที่ดิน เวนคืน จึงต้องรอ พ.ร.ฎ. เวนคืน ประกาศก่อนถึงจะเข้าสำรวจได้ เช่น “ฉะเชิงเทรา” พื้นที่สร้างสถานีใหม่ ศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงจอด

“กำลังทำแผนก่อสร้างให้รับกับการส่งมอบพื้นที่ ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกับการรถไฟฯ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งเบื้องต้นมีพื้นที่ติดปัญหา 2,250 ไร่ ทั้ง เวนคืน ผู้บุกรุก สัญญาเช่า 300 สัญญา เสาตอม่อโฮปเวลล์ 200 ต้น ที่ต้องทุบทิ้ง และจุดทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ อุโมงค์คลองแห้งช่วงจิตรลดา ซ้อนทับสายสีแดง ที่เราต้องก่อสร้างให้ไปก่อน 7,000 ล้านบาท…”

โครงการนี้ยังไม่ทันได้ตอกเข็มต้นแรกก็เริ่มเห็นเค้าลางสารพัดปัญหา ปราการด่านแรกที่ต้องฝ่าฟันจึงเป็นปัญหา “ผู้บุกรุก” เป็นด้านหลัก เพราะยิ่งนับถอยหลังเพื่อเปิดไซต์ก่อสร้างกลับพบว่า ปัญหายอดผู้บุกรุกยิ่งสูงขึ้นทุกวัน เป็นภาพเดียวกันกับหลาย ๆ กรณีเกี่ยวกับโครงการลงทุนภาครัฐ ทุกครั้งเมื่อมีข่าวว่ารัฐเวนคืนที่ดิน หรือรื้อย้าย มักมีผู้บุกรุกใหม่เพิ่มขึ้นทุกครั้ง ล่าสุดเป็นคิวของโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินนี่เอง

ด้าน “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ยืนยันส่งมอบได้ตามสภาพความพร้อมพื้นที่ แปลงไหนว่างเปล่าก็จะส่งมอบได้ทันที การประสานงานขอให้ ซี.พี.ทำแผนก่อสร้างที่ชัดเจน ต้องการเริ่มสร้างพื้นที่ส่วนไหนก่อนและหลัง เพื่อจะได้ทยอยส่งมอบให้เป็นส่วน ๆ ไป

โดยระยะทาง 220 กม. คาดว่าใช้พื้นที่ก่อสร้างรวม 10,000 ไร่ โดยประเมินว่ามีพื้นที่เป็นอุปสรรค 20% หรือ 2,000 ไร่

กาง 4 พื้นที่ต้องสะสาง

โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท 1.พื้นที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ จุดใหญ่อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ ค่าเวนคืน 3,000 ล้านบาท เป็นพื้นที่เกษตรกรรมห่างสถานีรถไฟฉะเชิงเทราเดิมไปด้านทิศเหนือ 1.5 กม. ออกไปทาง อ.บางน้ำเปรี้ยว 116 ไร่, สถานีใหม่ 76 ไร่, ศูนย์ซ่อมบำรุง 358 ไร่

ที่เหลือเวนคืนใกล้สถานีลาดกระบัง 350 ล้านบาท, ทางเข้า-ออกสถานีสุวรรณภูมิ 12 ล้าน, สถานีอู่ตะเภา 130 ล้าน

2.พื้นที่บุกรุก 10% หรือ 1,000 ไร่ กระจายไปทั่วเส้นทาง มีมากสุดช่วง “พญาไท-หัวลำโพง-ดอนเมือง-พัทยา-ศรีราชา”

3.พื้นที่ที่มีสาธารณูปโภคกีดขวาง เช่น ท่อน้ำมัน ท่อประปาขนาดใหญ่ สายส่งไฟฟ้า โครงสร้างโฮปเวลล์ที่ต้องรื้อออกด้วย

และ 4.พื้นที่เช่า 300-400 สัญญา โดยสัดส่วน 80% พร้อมส่งมอบ เช่น “สถานีมักกะสันใน” 140 ไร่ วางแผนส่งมอบให้ก่อน 100 ไร่ อีก 40 ไร่ติดย้ายพวงราง เช่นเดียวกับ “สถานีศรีราชา” 25 ไร่ ซี.พี.ต้องรอรื้อย้ายบ้านพักรถไฟ

“การทำแผนผังจะระบุเวลาเคลียร์ปัญหา เช่น การแก้ปัญหาผู้บุกรุกเคยใช้เวลาจัดการ 2-3 ปี อาจมีการประสานหน่วยงานความมั่นคงมาช่วยในส่วนที่ดำเนินการรื้อย้ายผู้บุกรุกยาก ส่วนสัญญาเช่าไม่มีปัญหาสามารถบอกเลิกได้ การเวนคืนรอ พ.ร.ฎ.บังคับใช้ ซึ่งจะใช้เวลาเวนคืน 2 ปี โดยเร็ว ๆ นี้จะเชิญกลุ่ม ซี.พี.มาประชุมหารือร่วมกัน”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ดินช่วงพญาไท-ดอนเมือง มีเวนคืนที่ดิน 7 ไร่เศษ สิ่งปลูกสร้าง 50 หลัง พร้อมรื้อตอม่อโฮปเวลล์ที่เหลือ 228 ต้น ติดถนนวิภาวดีฯ หากเขตทางไม่พอ อาจต้องขอใช้พื้นที่ถนนจากกรมทางหลวงด้วย

EEC อัด 200 ล้านลุยรื้อบุกรุก

นาทีนี้ ปัญหาผู้บุกรุกคาดว่าใช้เวลานานร่วม 3 ปี จึงจะสามารถเคลียร์ได้หมด ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มี “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 200 ล้านบาท ให้ ร.ฟ.ท.เร่งรื้อย้ายผู้บุกรุก เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จทันกำหนดเวลา 5 ปี

“คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี เปิดเผยว่า วงเงิน 200 ล้านบาทอนุมัติเพิ่มเติมเนื่องจากก่อนหน้านี้ ครม.เพิ่งอนุมัติแค่เงินชดเชยการเวนคืนที่ดิน 3,570 ล้านบาท พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง โดยยังไม่มีงบประมาณในส่วนที่ใช้ในการรื้อย้ายผู้บุกรุก

ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมีความพร้อมเพิ่มเป็น 82% เหลืออีก 18% ที่ยังติดอุปสรรคการจัดการผู้บุกรุก ทั้งนี้ ยังยืนยันวางกรอบการลงนามในสัญญาภายในเดือน ก.ค.นี้

กล่าวได้ว่า ระยะทางหมื่นลี้ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรก โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน หรือที่เรียกกันว่า ไฮสปีด ซี.พี. มีเรื่องให้ลุ้นแล้วลุ้นอีก โจทย์ใหญ่ในมือเจ้าสัว ซี.พี. ณ ตอนนี้ ถ้ายังไม่โอเคกับการส่งมอบพื้นที่แบบฟันหลอ จะกระทบต่อไทม์ไลน์ในการเซ็นสัญญาก่อสร้างหรือไม่

นาทีนี้ กลุ่ม ซี.พี.ไม่อยากผลีผลาม เพราะอ่านเกมออกตั้งแต่ต้น ร.ฟ.ท.เคลียร์ผู้บุกรุก 20% ไม่จบ โอกาสเข้าเนื้อมีสูงแน่นอน

ขอขอบคุณประชาชาติ

Leave a Reply