ซี.พี. เตรียมเข้าดูแล แอร์พอร์ต ลิงก์ ต.ค.64 ยังไม่เพิ่มขบวนรถ

เป็นที่แน่ชัดแล้ว่ากลุ่ม ซี.พี.จะเข้าบริหาร แอร์พอร์ต ลิงก์ ภายในเดือน ต.ค. 2564 เบื้องต้นจะลงทุนปรับปรุงระบบ จ่อเปลี่ยนอะไหล่ ปรับปรุงขบวนรถเดิม 9 ขบวน ทะลวงคอขวดทางเข้า-ออกสถานี เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ยังไม่ซื้อรถใหม่เพิ่มใน 3 ปีนี้ พร้อมตีเช็คจ่าย 1 หมื่นล้าน รับโอนโครงการ ต.ค. 64 ดีเดย์ ก.พ.ปีหน้าเข้าพื้นที่ตอกเข็มไฮสปีด 3 สนามบิน

แอร์พอร์ต ลิงก์

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทางบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เข้าสำรวจและประเมินทรัพย์สินของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในเบื้องต้น ซี.พี.แจ้งจะจ่ายเงินค่าใช้สิทธิ 10,671 ล้านบาท เพื่อรับโอนโครงการภายในเดือน ต.ค. 2564 ครบ 2 ปีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาพอดี

“หลัก ๆ เป็นการตรวจสอบด้านเทคนิคเป็นระบบหลัก ประมาณ 10 ระบบ เช่น ขบวนรถ 9 ขบวน ระบบโทรคมนาคม ระบบจ่ายไฟฟ้า อุปกรณ์ในโรงซ่อมบำรุง ระบบอาณัติสัญญาณ ประตู โครงสร้างงานโยธา ผลการตรวจโดยรวมอยู่ในฐานะที่ปลอดภัย”

แต่ต้องปรับปรุงระบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เช่น อะไหล่ในตัวรถต้องซื้อเพิ่ม แต่มีบางชิ้นที่โรงงานเลิกผลิตแล้ว ต้องซื้อให้ครบก่อนจะเข้ามาบริหารในเดือน ต.ค.ปีหน้า เนื่องจากใช้เวลาในการผลิต 1-2 ปี เช่น ระบบเบรก เป็นอะไหล่สำคัญ รวมถึงขบวนรถใหม่ที่จะซื้อเพิ่ม และระบบอาณัติสัญญาณที่ต้องเปลี่ยนเป็นระบบเปิดให้รองรับกับขบวนรถได้ทุกยี่ห้อ จากปัจจุบันเป็นระบบของซีเมนส์ที่ยังเป็นระบบปิด

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ซี.พี.ยังมีแผนเรื่องของการปรับปรุงการให้บริการ เช่น ที่จอดรถ ถนนเข้า-ออก ทางเดินเข้าสถานีทุกสถานี เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร เช่น สถานีมักกะสัน จะมีทางเชื่อมใต้ดินกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเพชรบุรี จากปัจจุบันมีสกายวอล์กอยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวว่า จะเข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ในเดือน ต.ค. 2564 เพราะยังต้องใช้เวลาประเมินทรัพย์สิน และบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้ ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้เนื่องจากติดโควิดในเบื้องต้นจะยังไม่ซื้อรถใหม่เพิ่ม เนื่องจากมองว่ารถ 9 ขบวนเดิม ยังเพียงพอที่จะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ในช่วง 2-3 ปีแรกนี้ จากปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 80,000 เที่ยวคน/วัน และผู้โดยสารจะหนาแน่นช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น

“ซื้อรถใหม่เพิ่มแน่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ แต่ยังไม่จำเป็นต้องซื้อในทันที เพราะเราต้องเก็บข้อมูลใหม่ในช่วงโควิด มีผู้โดยสารน้อย ดูแล้วรถเดิมยังพอ แต่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่น ระบบราง ระบบเทเลคอม ที่ต้องเข้าไปซ่อมแซมก่อนจะเข้าไปเทกโอเวอร์ คาดว่าจะใช้งบฯอีกหลาย 100 ล้านบาท เพราะช่วงเวลา 1 ปีที่เหลือนี้จะสั่งซื้อใหม่คงไม่ทัน ด้านพนักงานอาจจะต้องโอนบางส่วนจากแอร์พอร์ตลิงก์มาดำเนินการ เพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว จะช่วยลดระยะเวลาการเทรนนิ่งคนได้”

สำหรับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง แหล่งข่าวกล่าวว่า อยู่ระหว่างทำแผนการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคและการเวนคืนที่ดินร่วมกับภาครัฐ คาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ได้ภายในเดือน ก.พ. 2564 ตามแผนแบ่งพื้นที่ส่งมอบ 3 ส่วน จากทั้งโครงการ 220 กม. ประกอบด้วย 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาทก่อน

2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ส่งมอบใน 4 ปี เร่งรัดได้ 2 ปี 3 เดือน จะเปิดบริการช่วงสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ปลายปี 2566 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง อาจเสร็จเปิดใช้ในปี 2567-2568

ส่วนการเวนคืนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งกรอบค่าเวนคืนไว้ 3,570 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน 885 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา แปลงที่ดิน 931 แปลงอาคารสิ่งปลูกสร้าง 360 หลัง ต้นไม้ 517 แปลง ผู้บุกรุก 1,352 หลัง อยู่ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 782 หลัง และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 570 หลัง

ประชาชาติธุรกิจ

ติดตามอัพเดทข่าวสารในวงการอสังหาฯ ทั้งหมดได้ที่
www.propertyinsight.co

Leave a Reply