HomeDaily Update ผลสำรวจรถไฟฟ้า เข้าถึงยาก เดินทางหลายต่อ ค่าโดยสารแพง MisterProp August 26, 2020 Daily Update No Comments Tweet Pin It สนข. เผยผลสำรวจหลังเปิดใช้บริการรถไฟฟ้า 6 เส้นทาง ช่วยลดโลกร้อน-ประหยัดพลังงาน แต่ยังตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ไม่ดีพอ เหตุต้องเดินทางหลายต่อ ค่าโดยสารแพง ผู้โดยสารแออัด เข้าถึงยาก ขาดการเชื่อมต่อที่ดี แนะรัฐเร่งจัดมาตรการลดค่าโดยสาร – จัดระบบฟีดเดอร์เสริมเพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น จากผลการศึกษาของโครงการติดตามประเมิน (Tracking) การใช้พลังงานที่ลดได้จากมาตรการภาคขนส่งด้วยการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้ติดตามและประเมินผลจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน คือ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สำโรง, สายสีเขียว ช่วงสำโรง – สมุทรปราการ, สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ – บางหว้า, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) และ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ รถไฟฟ้าเซฟพลังงาน-เซฟโลก พบว่าในปี 2563 ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 6 เส้นทางช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 224.3 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และหากดำเนินการทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแผนแม่บท M-Map จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้ประมาณ 1,375.5 ktoe ในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) ที่คาดการณ์ไว้ที่ 4,823 ktoe ถือว่าผลที่ประเมินได้ค่อนข้างแตกต่างกัน ขณะเดียวกันก็พบว่าในปี 2563 รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้ง 6 เส้นทาง ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 0.64 MtCO2e และในปี พ.ศ. 2573 หากเปิดให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้ครบ 10 เส้นทางตามแผนแม่บท M-Map จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2.65 MtCO2e ซึ่งสูงกว่าที่ประเมินไว้ในแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง ที่ประเมินศักยภาพในการลด ก๊าซเรือนกระจกของมาตรการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไว้ที่ 1.06 MtCO2e ณ ปี พ.ศ. 2573 รถไฟฟ้าเดินทางสะดวก แต่ตอบโจทย์ไม่รอบด้าน นอกจากนั้นบริษัทที่ปรึกษายังได้นำเสนอข้อมูลการสำรวจและเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชนในพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ก่อนการเปิดดำเนินการ ซึ่งพบว่า ก่อนมีรถไฟฟ้า ประชาชนส่วนใหญ่ 34.74% เดินทางโดยรถเมล์ ตามด้วยรถแท็กซี่ 29.50% รถยนต์ส่วนตัว 16.13% รถตู้ 6.05% สองแถวหรือสามล้อ 5.55% จักรยานยนต์ 4.54% เดิน 1.93% เรือ 1.06% และจักรยานยนต์รับจ้าง 0.50% ภายหลังจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าถึง 57.89% รถเมล์ 9.94% รถสองแถวหรือสามล้อ 9.68% รถยนต์ส่วนตัว 7.64% รถจักรยานยนต์ 5.73% เดิน 5.30% รถไฟ 1.91% แท็กซี่ 1.27% และจักรยานยนต์รับจ้าง 0.64% โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เลือกใช้เพราะประหยัดเวลาในการเดินทาง อย่างไรก็ดี ยังมีประชาชนที่ตัดสินใจไม่ใช้บริการรถไฟฟ้าด้วย โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจถึง 59% ที่ให้เหตุผลว่า เหตุผลหลักที่ไม่ใช้รถไฟฟ้าเพราะไม่สามารถ เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าเพียงระบบเดียวเพื่อไปให้ถึงปลายทาง ต้องต่อรถโดยสาร จักรยานยนต์รับจ้าง หรือ เดิน รวมถึงมีราคาสูงเกินไป ผู้ใช้บริการแออัด การเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ยังไม่ดีพอ เสนอรัฐเร่งออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า จากผลสำรวจข้างต้น ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในด้านของการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้งานของประชาชนอย่างเต็มที่ เห็นได้จากเหตุผลที่ประชาชนไม่เลือกใช้รถไฟฟ้ามากอันดับ 2 (18%) คือราคาสูง ซึ่งผลสำรวจกลุ่มประชาชนที่เลือกใช้รถไฟฟ้า พบกว่า 30% เป็น กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุต่ำกว่า 22 ปี ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน แต่ใช้บริการทุกวันทำการ รัฐจึงควรมีนโยบายในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนั้น ในผลการศึกษายังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐด้วยว่าควรมีแนวทางหรือมาตรการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน และบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ส่วนมาตรการที่ควรมีเพื่อส่งเสริมการใช้รถสาธารณะ ที่คิดว่าเหมาะสม คือ มาตรการเชื่อมต่อการเดินทางก่อนและหลังการเปลี่ยนยานพาหนะ (First and Last Mile) ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เหตุผลที่ประชาชนไม่เลือกใช้รถไฟฟ้ามากที่สุด (59%) คือ การไม่เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางด้วยระบบเดียว/ต้องเดินทางต่อหลายระบบ จึงทำให้ยากต่อการเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในการเดินทาง และจากผลการวิเคราะห์ปัจจัย และแนวโน้มที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการรถไฟฟ้า โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า ผู้เดินทางไม่ให้ความสำคัญต่อรูปลักษณ์ของระบบการเดินทางมากนัก แต่ให้ความสำคัญต่อเวลาในการเดินทาง อีกหนึ่งมาตรการที่เสนอแนะคือ มาตรการส่งเสริมระบบขนส่งรองเชื่อมโยง (Feeder) เนื่องจากสามารถเป็นมาตรการที่เสริมกับมาตรการเชื่อมต่อการเดินทางก่อนและหลังการเปลี่ยนยานพาหนะ (First and Last Mile) ได้ เช่น สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ให้เป็นลักษณะ Feeder เข้าระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายระบบ Feeder ในพื้นที่ใหม่ที่มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น จักรยาน รถสองแถว หรือ รถขนส่งกึ่งสาธารณะ (Paratransit) By Samoejai Maneechote ติดตามอัพเดทข่าวสารในวงการอสังหาฯ ทั้งหมดได้ที่ www.propertyinsight.co About The Author MisterProp Related Posts Daily Update ทอท.เปิดศึกยก 2 “เซ็นทรัล” ฝ่าด่านโจทย์ใหม่กฎการบิน By MisterProp September 23, 2019 Daily Update SENA ออกหุ้นกู้ รับแผนขยายธุรกิจในอนาคต By nightlizard February 21, 2017 Daily Update Mixed – use ครองเมือง ส่อง 10 ... By MisterProp January 16, 2018 Leave a Reply Cancel reply Notify me of follow-up comments by email. Notify me of new posts by email.