กรุงไทยลงทุน “ระบบตั๋วร่วม” รถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน

กรุงไทยลงทุน “ระบบตั๋วร่วม” รถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน

รถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน

รฟม. รายงานบอร์ด 25 ก.พ. ผลล้มประมูลสายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” 1.28 แสนล้าน พร้อมไทม์ไลน์เปิดบิดใหม่ ได้เอกชน 6-8 เดือน จับตาหั่นการลงทุนรถไฟฟ้าภูเก็ตเป็นรถล้อยางไฟฟ้า ลดต้นทุนเหลือ 1.7 หมื่นล้าน ปัดฝุ่นระบบตั๋วร่วมหลังกรุงไทยยื่นเสนอลงทุนพัฒนาระบบ EMV สายสีน้ำเงิน สีม่วง เข็นใช้ ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ก.พ.จะมีประชุมบอร์ด รฟม. คาดว่านายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. จะรายงานการล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีมติยกเลิกและเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา

“บอร์ดคงไม่มีการตัดสินใจ ยังไม่ถึงเวลา เป็นอำนาจของคณะกรรมการ มาตรา 36 ในการพิจารณาเดินหน้าโครงการใช้เกณฑ์ไหนในการเริ่มต้นใหม่ และต้องเสนอคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะตอนนี้อยู่ในความสนใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์ไหนต้องรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนในการยกร่างทีโออาร์ และเร่งให้ได้เอกชนตามที่กำหนดไทม์ไลน์ไว้ 6-8 เดือน”

นอกจากนี้ มีเรื่องระบบตั๋วร่วมที่นำมาปัดฝุ่นใหม่ หลังกระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้ใช้ภายในปี 2564 โดยใช้บัตรโดยสารไม่ว่าจะเป็นบัตรแรบบิท บัตร MRT บัตรแมงมุม สามารถใช้บัตรใดบัตรหนึ่งแตะข้ามระบบกันได้ทั้งสายสีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วง ปัจจุบัน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ลงทุน 120 ล้านบาท ปรับปรุงระบบไว้รอแล้ว ยังเหลือสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ต้องการให้ รฟม.เป็นผู้ลงทุน วงเงิน 225.4 ล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมาบอร์ดจึงยังไม่มีการพิจารณา

สำหรับการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในระยะยาว รฟม.มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นแบบ Account Based Ticketing (ABT) เป็นระบบเปิด เป็นการใช้บัตรผ่านระบบบัญชีบัตร ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร ทางด่วน ร้านสะดวกซื้อ ด้วยบัตรใบเดียว คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี หรือภายในปี 2566 ล่าสุดธนาคารกรุงไทยจะพัฒนาระบบ EMV ที่รองรับบัตรกรุงไทย ที่ปัจจุบันมีการให้บริการอยู่แล้วเป็นแบบ EDC โดยจะลงทุนให้ รฟม.ทั้งหมดสำหรับสายสีน้ำเงินและสีม่วง ตั้งเป้าจะใช้ได้บางส่วนในเดือน ต.ค.นี้ และเต็มรูปแบบภายในเดือน ม.ค. 2565

“บัตรโดยสารแตะข้ามระบบที่คมนาคมกำลังผลักดัน มีบีทีเอสที่ทำรายเดียว ที่เหลือยังไม่มี ขณะที่ระบบ EMV มีแนวโน้มที่กรุงไทยจะมาดำเนินการให้ แต่จะเริ่มพัฒนาสายสีม่วงก่อน ส่วนสายสีน้ำเงินทาง รฟม.หรือ BEM ต้องลงทุนเอง เงินลงทุนน่าจะเป็นหลัก 100 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าได้อย่างที่ตั้งเป้าได้หรือไม่”

อีกทั้งจะมีรายงานความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต เฟสแรกสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 42 กม. วงเงิน 35,201 ล้านบาท ซึ่งนโยบายกระทรวงคมนาคมให้ปรับรูปแบบจากระบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (tram) เป็นระบบล้อยางไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนโครงการ คาดว่าหากเป็นรูปแบบใหม่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 17,754 ล้านบาท เนื่องจากระบบที่ใช้เป็นรถโดยสารประจำทางระบบไฟฟ้า หรือ ART และปรับรูปแบบการก่อสร้างด้วย

ซึ่ง รฟม.เคยเสนอบอร์ดไปแล้วว่าสามารถปรับลดได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เหลือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในครั้งนี้จะมีรายละเอียดของโครงการเสนอให้บอร์ดพิจารณาหลังปรับลดต้นทุนได้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเดินหน้าโครงการต่อไป จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปีก่อสร้าง จัดหาระบบและรับสัมปทานเดินรถ

ประชาชาติธุรกิจ

ติดตามอัพเดทข่าวสารในวงการอสังหาฯ ทั้งหมดได้ที่
www.propertyinsight.co

Leave a Reply